เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./6972 | วันที่ | : 7 กันยายน 2561 | เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อค่าก่อสร้างอาคารตามสัดส่วนของรายได้ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/3, มาตรา 82/6 และ ข้อ 2,ข้อ 7 ของประเทศอิบดีฯเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ลว.9 มีนาคม 2535 | ข้อหารือ |
1. บริษัท ก. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 มีสาขารวม 3 แห่ง
2. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันที่สำนักงานใหญ่ 3. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยางแท่ง วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตยางถ้วย (ขี้ยาง) ผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก มีสัดส่วนของรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 4. บริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง (สถานประกอบการสาขาที่ 3) ลักษณะเป็นอาคาร 1 หลัง เป็นทั้งอาคารโรงงานผลิต ลานเก็บวัตถุดิบ คลังสินค้าและสำนักงาน รวมพื้นที่ทั้งหมด 25,289 ตารางเมตร ตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 5. บริษัทฯ มีการก่อสร้างอาคารโรงงานและยังไม่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มทำการก่อสร้างอาคารหรือวันที่ได้รับอนุมัติให้ทำการก่อสร้างอาคาร และบริษัทฯ ไม่สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่จากการก่อสร้างอาคารได้ บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ขอขยายระยะเวลาการแจ้งการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร และขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามสัดส่วนของรายได้ พร้อมแนบรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร (ภ.พ.05.1) โดยมิได้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร | แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ก่อสร้างอาคาร 1 หลัง (สถานประกอบการสาขาที่ 3) เพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง ลานเก็บวัตถุดิบ คลังสินค้าและสำนักงาน โดยบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารได้ว่า พื้นที่ส่วนใดใช้สำหรับประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และพื้นที่ส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงควรอนุมัติให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้นำภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 และเมื่อบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาอนุมัติขยายกำหนดเวลาการยื่นแจ้งรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคารตามที่บริษัทฯ ร้องขอแต่อย่างใด | เลขตู้ | : 81/40796 |