เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค. 0702/พ.6968
วันที่: 7 กันยายน 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าหรือให้บริการซ่อมแซมเรือเดินทะเลแก่บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 80/1 (2) มาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/2 (80) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ประกอบกิจการจำหน่ายและให้บริการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลบนเรือเดินทะเล ได้แก่ กล่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง ลักษณะคล้ายกับกล่องดำที่ติดตั้งในเครื่องบิน เครื่องมือเรดาร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยบริษัทฯ จะสั่งซื้อกล่องบันทึกข้อมูลการเดินทางจาก บริษัทใน ประเทศสิงคโปร์ โดยมีเจ้าของลิขสิทธิ์ คือบริษัท J (เรียกชื่อย่อ J) ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และประกอบกิจการจำหน่ายกล่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศ J บริษัทฯ จะให้บริการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นเรือเดินทะเลรับขนส่งระหว่างประเทศที่ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือจาก J และเมื่อเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลที่เกิดขัดข้องในน่านน้ำไทย เรือเดินทะเลรับขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าวจะแจ้งซ่อมไปยัง J จากนั้น J จะส่งใบคำขอใช้บริการแจ้งซ่อมทางอีเมล เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลบนเรือเดินทะเลดังกล่าว การให้บริการมีลักษณะดังนี้
          1.กรณีเรือเดินทะเลสั่งสินค้าเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลโดยตรงจาก J และ J จัดส่งสินค้าเพื่อใช้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนให้บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า โดยสินค้าจะถูกส่งจากสนามบินหรือท่าเรือที่นำเข้าผ่านโดยตรงไปยังเรือเดินทะเลที่รอซ่อม ใบขนสินค้าเป็นใบขนสินค้าผ่านแดน (Transit Entry) ระบุ Shipper’s คือ J และ Consignee’s Name คือ เรือเดินทะเล และ C/O บริษัทฯ สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าธรรมเนียมพิธีการศุลกากรเพื่อออกของ บริษัทฯ เป็นผู้สำรองจ่ายก่อนและจะเรียกเก็บจาก J ภายหลัง โดยบริษัทฯ ออก INVOICE เรียกเก็บค่าบริการในการซ่อม และค่าใช้จ่ายนำเข้าบวกกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่บริษัทฯ จ่ายไป และบวกค่าบริการเพิ่มอีก USD 130 ซึ่งจะระบุใน INVOICE ว่า เป็นค่า HANDLING & ADMINISTRATIVE ซึ่งค่าบริการในการซ่อมและ HANDLING & ADMINISTRATIVE ดังกล่าว บริษัทฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
          2 กรณี J ยืมสินค้าของบริษัทฯ ไปซ่อมแซมให้กับเรือเดินทะเล และ J ส่งสินค้าคืนให้กับบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า ซึ่งสินค้าที่นำไปซ่อมแซมเรือเดินทะเลจะมีการทำใบเบิกสินค้าว่านำไปใช้ซ่อมงานใด แต่ไม่มีการตัดออกจากสต๊อกสินค้าของบริษัทฯ และเมื่อได้รับสินค้าคืนจะนำไปเก็บในสต๊อกสินค้า สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าบริษัทฯ เป็นผู้สำรองจ่ายไปก่อนและจะเรียกเก็บจาก J ภายหลัง โดยบริษัทฯ ออก INVOICE เรียกเก็บค่าบริการในการซ่อมและค่าใช้จ่ายนำเข้า บวกกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่บริษัทฯ จ่ายไป และบวกค่าบริการเพิ่มอีก USD 130 ซึ่งจะระบุใน INVOICE ว่าเป็นค่า HANDLING & ADMINISTRATIVE ซึ่งค่าบริการในการซ่อมและ HANDLING & ADMINISTRATIVE ดังกล่าว บริษัทฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
          3 กรณีเรือเดินทะเลบางรายสั่งสินค้าและอุปกรณ์จาก J ไม่ทัน J จะสั่งให้บริษัทฯ นำสินค้าของบริษัทฯ ไปซ่อมแซมติดตั้งให้แทน บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษี/ใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บค่าสินค้าและบริการจาก J โดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มที่ 1 คือ J ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกิจการจำหน่ายกล่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศ โดยบริษัทฯ จะให้บริการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลให้แก่เรือเดินทะเลรับขนส่งระหว่างประเทศที่ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือจาก J และเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลที่เกิดขัดข้องในน่านน้ำไทย โดยเรือเดินทะเลรับขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าวจะแจ้งซ่อมไปยัง J จากนั้น J จะส่งใบคำขอใช้บริการแจ้งซ่อมทางอีเมล เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลบนเรือเดินทะเลดังกล่าว โดยมีลักษณะการให้บริการ ดังนี้
          1. กรณีเรือเดินทะเลสั่งสินค้าเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลโดยตรงจาก J โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า และสินค้าจะถูกส่งจากสนามบินหรือท่าเรือที่นำเข้าผ่านโดยตรงไปยังเรือเดินทะเลที่รอซ่อม ใบขนสินค้าเป็นใบขนสินค้าผ่านแดน (Transit Entry) ระบุ Shipper’s คือ J และ Consignee’s Name คือ เรือเดินทะเล และ C/O บริษัทฯ สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าธรรมเนียมพิธีการศุลกากรเพื่อออกของ บริษัทฯ เป็นผู้สำรองจ่ายก่อนและจะเรียกเก็บจาก J ภายหลัง โดยบริษัทฯ ออก INVOICE เรียกเก็บค่าบริการในการซ่อม และค่าใช้จ่ายนำเข้า บวกกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่บริษัทฯ จ่ายไป และบวกค่าบริการเพิ่มอีก USD 130 ซึ่งจะระบุใน INVOICE ว่า เป็นค่า HANDLING & ADMINISTRATIVE การให้บริการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลบนเรือเดินทะเลที่อยู่ในน่านน้ำประเทศไทยให้แก่ J ซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ โดยเมื่อซ่อมเสร็จเรือเดินทะเลก็จะแล่นออกไปต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 หากการให้บริการดังกล่าวบริษัทฯ มีหลักฐานตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณี J ยืมสินค้าเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลของบริษัทฯ ไปซ่อมแซมให้กับเรือเดินทะเล และ J ส่งสินค้าคืนให้กับบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าบริษัทฯ เป็นผู้สำรองจ่ายไปก่อนและจะเรียกเก็บจาก J ภายหลัง โดยบริษัทฯ ออก INVOICE เรียกเก็บค่าบริการในการซ่อมและค่าใช้จ่ายนำเข้า บวกกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่บริษัทฯ จ่ายไป และบวกค่าบริการเพิ่มอีก USD 130 ซึ่งจะระบุใน INVOICE ว่าเป็นค่า HANDLING & ADMINISTRATIVE กรณีดังกล่าวเป็นกรณี J ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลได้ยืมสินค้าของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ นำไปซ่อมแซมให้กับเรือเดินทะเลซึ่งเป็นลูกค้าของ J ที่อยู่ในน่านน้ำประเทศไทย การให้ยืมสินค้าแก่ J ในกรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าพร้อมให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีเรือเดินทะเลบางรายสั่งสินค้าเครื่องมือรับ-ส่งข้อมูลสื่อสารทางทะเลจาก J ไม่ทัน J จะสั่งให้บริษัทฯ นำสินค้าของบริษัทฯ ไปซ่อมแซมติดตั้งให้กับเรือเดินทะเลที่อยู่ในน่านน้ำประเทศไทย และบริษัทฯ จะเรียกเก็บเงินค่าบริการจาก J กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้าพร้อมให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40792

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020