เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301)
พ.ศ. 2539
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2539
เป็นปีที่ 51 ในรัชกาลปัจจุบัน

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                    โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากในบางกรณี

                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                    มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539”

                    มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                    มาตรา 3  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                    (1) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ

                    (2) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ในประเทศ

                    ดอกเบี้ยเงินฝากตามวรรคหนึ่งต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64) ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2539 ใช้บังคับ 25 กันยายน 2539 เป็นต้นไป)

                    มาตรา 4  ในกรณีที่การฝากเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 3 วรรคสอง หรือตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดตามมาตรา 3 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายขาดไปสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว และให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีส่วนที่ขาดพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีส่วนที่ขาดโดยไม่มีเบี้ยปรับ

                    ให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งพร้อมยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้

                    มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายบรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ โดยดอกเบี้ยดังกล่าวเกิดจากการฝากเงินโดยมียอดเงินฝากเท่ากันติดต่อกันเป็นรายเดือนมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก และยอดเงินฝากแต่ละคราวเป็นไปตามวงเงินที่กำหนด แต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือนและรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท เพื่อเป็นการจูงใจและส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 40 ก วันที่ 24 กันยายน 2539)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022