เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./7621
วันที่: 24 พฤศจิกายน 2560
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีตามคำพิพากษาศาลฏีกา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 (8) 78,86/4 86/4(5), 89 89 (5), 90/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

         (1) บริษัทฯ ประกอบกิจการขาย ติดตั้ง และบริการบำรุงรักษาลิฟท์ และบันไดเลื่อน บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานระบบไฟฟ้า สื่อสาร สุขาภิบาล และระบบป้องกันอัคคีภัย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จำนวน 162,651,610 บาท ซึ่งลูกค้าได้ชำระเงินให้บริษัทฯ เพียงบางส่วน ส่วนที่ลูกค้าค้างชำระ บริษัทฯ ได้ฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 และคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ พิพากษาให้ลูกค้าชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
         (2) ในการขายสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ได้ออกเอกสารใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า ณ วันส่งมอบสินค้าในปี 2540 ถึงปี 2541 โดยบริษัทฯ ได้ออกเพียงใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้า จำนวน 15 ฉบับ เพื่อขอรับชำระเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ และภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าเมื่อลูกค้าชำระเงิน ต่อมาในปี 2543 บริษัทฯ ถูกกรมสรรพากรประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในประเด็นที่บริษัทฯ ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีในขณะที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นระหว่างเดือนภาษีมกราคม 2539 ถึงเดือนภาษีพฤษภาคม 2543 ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระภาษีที่ขาดพร้อมเงินเพิ่มเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2544 ต่อมา เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินตามคำพิพากษาตาม 1. ในวันที่ 25 มกราคม 2560 จำนวน 64,836,256.07 บาท บริษัทฯ จึงได้ออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน โดยไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ สามารถออกใบกำกับภาษีหลังจากถูกกรมสรรพากรประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในประเด็นที่บริษัทฯ ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีในขณะที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขายวัสดุอุปกรณ์งานระบบไฟฟ้า สื่อสาร สุขาภิบาล และระบบป้องกันอัคคีภัยให้แก่ลูกค้า เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าทุกครั้งและต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ มิได้จัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(5) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระวางโทษตามมาตรา 90/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ถูกเจ้าพนักงานประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากฐานความผิดที่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระตามที่เจ้าพนักงานประเมินไปแล้ว บริษัทฯ จึงไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีอีก อย่างไรก็ดี หากลูกค้าได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทฯ บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกค้าตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลูกค้าได้ชำระ โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวต้องมีรายการ ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ณ วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นสำหรับการขายสินค้าในแต่ละครั้งให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40495

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020