เมนูปิด
Untitled Document

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 573)
พ.ศ. 2556
------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556
เป็นปีที่ 68 ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ บางกรณี
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 573) พ.ศ. 2556”

                   มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5 จตุวีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

                   “มาตรา 5 จตุวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวล รัษฎากร ให้แก่บริษัทซึ่งเป็นบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการและจดทะเบียนเลิก ในกรณีที่ได้มีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ระหว่างบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันชีวิตธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินสำรองตามมาตรา 65 ตรี (1) (ก) (ข) หรือ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามมาตรา 74 (2) และ (3)แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
        นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการ ทั้งหมดให้แก่กัน ระหว่างบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการและจดทะเบียนเลิก จะต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำเงินสำรอง ที่ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ สถาบันการเงิน ที่ได้ลงรายการเป็นรายจ่ายไปแล้วกลับมาคำนวณเป็นรายได้ ทำให้บริษัทดังกล่าวมีภาระภาษีเงินได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันในภาคธุรกิจดังกล่าว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการและจดทะเบียนเลิก สำหรับเงินสำรองที่กันไว้ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ก) (ข) หรือ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                   (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 130 ตอนที่ 123 ก วันที่ 23 ธันวาคม 2556)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022