เมนูปิด
Untitled Document

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 574)
พ.ศ. 2556
------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556
เป็นปีที่ 68 ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควรกำหนดรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลี
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 574) พ.ศ. 2556”

                   มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา 3 รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

                   (1) เงินสำรองตามมาตรา 65 ตรี (1) (ก) หรือ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทใหม่ อันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้รับโอนกิจการทั้งหมดได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต หรือกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองซึ่งบริษัทเดิมที่ได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการทั้งหมดและจดทะเบียนเลิกได้กันไว้ ทั้งนี้ สำหรับบริษัทใหม่ที่ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเฉพาะเงินสำรองที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
                   (2) เงินสำรองซึ่งได้กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้รับโอนกิจการทั้งหมดได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองซึ่งบริษัทเดิมที่ได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการทั้งหมดและจดทะเบียนเลิกได้กันไว้
                   (3) รายจ่ายที่เกิดจากการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นจำนวนไม่เกินเงินสำรองซึ่งบริษัทเดิมที่ได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการทั้งหมดและจดทะเบียนเลิกได้กันไว้ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

                   มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
        นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันกับบริษัทอื่น หรือเป็นผู้โอนกิจการและจดทะเบียนเลิก ในกรณีที่มีการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ระหว่างบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ สำหรับเงินสำรองตามมาตรา 65 (1) (ก) (ข) หรือ (ค) ตามประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี สมควรกำหนดให้เงินสำรองดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้รับโอนกิจการ เนื่องจากการที่บริษัทใหม่ดังกล่าวจะนำเงินสำรองที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่ได้กันไว้ มาลงรายการเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทในการเสียภาษีเงินได้อีกครั้ง ย่อมถือได้ว่าเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซ้ำซ้อน ในเงินจำนวนเดียวกัน และโดยที่มาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้การกำหนดรายการ ที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการเสียภาษีต้องเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากรและเป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                   (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 130 ตอนที่ 123 ก วันที่ 23 ธันวาคม 2556)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022