พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 333) พ.ศ. 2541 -------------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน | |||
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทรัพย์สินระหว่างนิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 81(1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 333) พ.ศ. 2541 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (8) ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 327) พ.ศ. 2541 (8) การขายทรัพย์สินระหว่างนิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ได้กำหนดให้มีนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการรับโอนสินทรัพย์แล้วแปลงเป็นหลักทรัพย์ออกจำหน่ายแก่ผู้ลงทุน เพื่อแก้ไขอุปสรรคการขาดแคลนเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดทุนและระดมเงินออมของประเทศ แต่เนื่องจากการขายทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ และการขายทรัพย์สินของนิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่จูงใจให้มีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อการระดมทุนของธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่การขายทรัพย์สินดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ |
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 80 ก วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541)