เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/9937
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2558
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ข้อกฎหมาย : การขายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ข้อหารือ           1. บริษัท B เดิมชื่อบริษัท A จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคล เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องจักร ไม่มีสำนักงานสาขา
          2. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 บริษัท B หรือ ผู้เช่า ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับคณะบุคคลโดยนาง ก. และนาย ข. หรือ ผู้ให้เช่า เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องจักร โดยมีกำหนดให้เช่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 สิ้นสุดวันที่ 1 สิงหาคม 2553 อัตราค่าเช่าปีละ 1,320,000 บาท และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ายินยอมต่อสัญญาให้แก่บริษัท B เช่าต่อไปอีก 12 ปี โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยประการใด ผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่ผู้เช่าเป็นผู้ปลูกสร้างลงในที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์
          3. บริษัท B ได้ก่อสร้างอาคารใหม่ลงในที่ดินดังกล่าว เลขที่ -- แล้วเสร็จ และพร้อมใช้งานแบ่งเป็น 2 ส่วน
          4. ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 บริษัท B ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท C ให้เช่าช่วงที่ดินบางส่วนในบริเวณที่เช่าตาม 2. โดยมีกำหนดให้เช่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 สิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 อัตราค่าเช่าเดือนละ 140,000 บาท และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า บริษัท B ยินยอมต่อสัญญาให้แก่บริษัท C เช่าต่อไปอีก 6 ปี
          5. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 บริษัท B ได้ทำสัญญาขายสิ่งปลูกสร้าง เลขที่ -- ให้แก่บริษัท C จำนวน 7,500,000 บาท ซึ่งบริษัท C ตกลงชำระราคาสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท B ในวันทำสัญญาขายสิ่งปลูกสร้าง โดยชำระเป็นเช็คสั่งจ่ายในนามบริษัท B พร้อมโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท C เพื่อใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัท C
แนววินิจฉัย           1. การให้เช่าช่วงที่ดิน กรณีตามข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 บริษัท B ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับผู้ให้เช่า โดยมีกำหนดเวลาให้เช่า 3 ปี และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ายินยอมต่อสัญญาให้แก่บริษัท B เช่าต่อไปอีก 12 ปี โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยประการใด ผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่ผู้เช่าเป็นผู้ปลูกสร้างลงในที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่า และบริษัท B ได้ก่อสร้างอาคารใหม่เลขที่ -- ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ลงในที่ดินดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 บริษัท B ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท C ให้เช่าช่วงที่ดินบางส่วนในบริเวณที่เช่าตามหนังสือยินยอมฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 กรณีดังกล่าวการที่บริษัท B ได้นำที่ดินบางส่วนที่เช่ามาจากผู้ให้เช่าให้บริษัท C เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า ตามมาตรา 544 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินค่าตอบแทนจากการให้เช่าช่วงที่ดินซึ่งบริษัท B ได้รับถือเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท C ผู้เช่าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 . 0 ของค่าเช่า ตามข้อ 6 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ดังนั้น การที่บริษัท B ได้นำที่ดินบางส่วนที่เช่ามาจากผู้ให้เช่าให้บริษัท C เช่าช่วงซึ่งเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งอันเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท B จึงไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับจากการให้เช่าช่วงจากบริษัท C ไปคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท C แต่อย่างใด
          2. การขายอาคารและสิ่งปลูกสร้าง กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท B ได้ก่อสร้างอาคารใหม่เลขที่ 41/61 (เลขที่ใหม่ 572) ในบริเวณที่ดินที่เช่า พร้อมจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า และน้ำประปา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท B และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 บริษัท B ได้ทำสัญญาขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่บริษัท C จำนวน 7,500,000 บาท พร้อมโอนกรรมสิทธิ์อาคารและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท C เพื่อใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัท C โดยไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีดังกล่าวการที่บริษัท B ได้ขายอาคารใหม่เลขที่ -- ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการการโอนขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ หากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัท B จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2 (6) และมาตรา 91/8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
เลขตู้: 78/39905

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020