เลขที่หนังสือ | : 0702/9267 | วันที่ | : 12 ตุลาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีส่วนลดเนื่องจากการส่งเสริมการขาย | ข้อกฎหมาย | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีส่วนลดเนื่องจากการส่งเสริมการขาย | ข้อหารือ |
บริษัท A จำกัด แจ้งว่า บริษัทฯ เป็นที่ปรึกษาทางด้านบัญชีและภาษีอากรให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลายแห่ง ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการให้ส่วนลด เนื่องจากการส่งเสริมการขายของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. บุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.1 "บริษัทผู้ผลิตรถยนต์" หมายถึง บริษัทที่ผลิตรถยนต์ซึ่งจำหน่ายรถยนต์ผ่านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เท่านั้น ได้แก่ บริษัท B จำกัด 1.2 "ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์" หมายถึง บริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ผลิตรถยนต์ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ บริษัท C จำกัด 1.3 "ผู้ซื้อรถยนต์" หมายถึง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะซื้อรถยนต์รุ่นใด ราคาเท่าใด จากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำรถยนต์ไปใช้งานเอง ไม่มีเจตนานำรถยนต์ดังกล่าวไปขายต่อ 1.4 "สถาบันการเงิน" หมายถึง บริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อการซื้อรถยนต์ โดยการเช่าซื้อรถยนต์ หรือ Leasing ได้แก่ บริษัท D จำกัด 2. รายละเอียดการซื้อรถยนต์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 2.1 รถยนต์คันหนึ่ง ผู้ผลิตรถยนต์ได้แสดงราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 1,070,000.00 บาท เมื่อผู้ซื้อรถยนต์ต้องการซื้อรถยนต์จะติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เพื่อสอบถามข้อมูลและทดลองขับรถยนต์รวมทั้งต่อรองส่วนลดที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์สามารถให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ได้ หากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้ส่วนลดสำหรับรถยนต์ จำนวน 53,500.00 บาท และผู้ซื้อรถยนต์พอใจสำหรับส่วนลดดังกล่าว ผู้ซื้อรถยนต์จะทำเอกสารตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว และจ่ายเงินจองรถยนต์ จำนวน 5,350.00 บาท 2.2 กรณีผู้ซื้อรถยนต์มีเงินสดไม่เพียงพอที่จะซื้อรถยนต์ตาม 2.1 ในวันที่มีการตกลงซื้อรถยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะติดต่อสถาบันการเงินเพื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยมีการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาข้อมูลและฐานะทางการเงินของผู้ซื้อรถยนต์ และแจ้งว่าสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับผู้ซื้อรถยนต์รายนี้เป็นจำนวนเท่าใดซึ่งกรณีดังกล่าวสถาบันการเงินอนุมัติให้กู้ยืม จำนวน 856,000.00 บาท ดังนั้น สถาบันการเงินจะเป็นผู้จ่ายเงิน จำนวน 856,000.00 บาท เป็นผลให้ผู้ซื้อรถยนต์ต้องชำระเงินวันที่รับรถยนต์ ดังนี้ - ราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,070,000.00 บาท - ส่วนลด 53,500.00 บาท - เงินจอง 5,350.00 บาท - วงเงินที่สถาบันการเงิน (ให้กู้ยืม) 856,000.00 บาท - จำนวนที่ผู้ซื้อรถยนต์ต้องชำระ 155,150.00 บาท ดังนั้น ในวันที่ส่งมอบรถยนต์ผู้ซื้อรถยนต์ชำระเงิน จำนวน 155,150.00 บาท และสถาบันการเงินชำระเงินจำนวน 856,000.00 บาท ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จัดทำเอกสารหลักฐานการรับส่วนลด จำนวน 53,500.00 บาท ให้ผู้ซื้อรถยนต์ไว้เป็นหลักฐาน และออกใบกำกับภาษีโดยระบุชื่อสถาบันการเงินเป็นผู้ซื้อ จำนวน 1,070,000.00 บาท และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกโดยแจ้งว่าสถาบันการเงินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บริษัทฯ ขอทราบว่า การให้ส่วนลด จำนวน 53,500 บาท ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ ถ้าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จะต้องหักจากผู้ใด | แนววินิจฉัย |
1. กรณีตาม 2.1 ผู้ซื้อรถยนต์ต้องการซื้อรถยนต์คันหนึ่ง ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 1,070,000.00 บาท และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ได้ให้ส่วนลดในการซื้อรถยนต์คันดังกล่าว จำนวน 53,500.00 บาท และผู้ซื้อรถยนต์พอใจในส่วนลดและได้ชำระเงินจอง จำนวน 5,350.00 บาท ต่อมาในวันที่ส่งมอบรถยนต์ผู้ซื้อรถยนต์มีเงินสดเพียงพอที่ชำระราคารถยนต์ที่เหลือหลังจากหักส่วนลดและเงินจอง ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จึงจัดทำเอกสารว่า ผู้ซื้อรถยนต์ตกลงเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ดังนั้น การให้ส่วนลดดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย หากได้จ่ายส่วนลดให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2. กรณีตาม 2.2 ผู้ซื้อรถยนต์ต้องการซื้อรถยนต์คันดังกล่าว แต่มีเงินสดไม่เพียงพอชำระราคารถยนต์ทั้งหมดในวันที่มีการตกลงซื้อรถยนต์ โดยตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ได้ให้ส่วนลดในการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจำนวน 53,500.00 บาท ซึ่งผู้ซื้อรถยนต์พอใจในส่วนลดและชำระเงินจอง ต่อมาในวันที่ส่งมอบรถยนต์ผู้ซื้อรถยนต์จะชำระราคารถยนต์บางส่วนที่มีการหักเงินจองและส่วนลด และสถาบันการเงินที่ให้ผู้ซื้อรถยนต์กู้ยืมเงินจะเป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือทั้งหมด และรับโอนกรรมสิทธิ์แล้วนำรถยนต์มาขายต่อให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ โดยมีการทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น การให้ส่วนลดดังกล่าวจึงเป็นการให้ส่วนลดเนื่องจากการส่งเสริมการขายของผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ที่ให้แก่สถาบันการเงิน เนื่องจากในขณะที่มีการตกลงขายรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ผู้ซื้อรถยนต์ยังไม่มีเงินสดเพียงพอชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์จึงต้องออกใบกำกับภาษีโดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าทั้งหมดโดยไม่หักส่วนลด และโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่สถาบันการเงินผู้ซื้อ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อนำรถยนต์ไปขายต่อให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ โดยทำสัญญาเช่าซื้อ ถือได้ว่า ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ได้ให้ส่วนลดแก่สถาบันการเงินผู้ซื้อสินค้าซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะนำรถยนต์ไปขายต่อมิใช่เป็นการให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อรถยนต์ที่เป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ส่วนลดที่ให้จึงอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 | เลขตู้ | : 78/39895 |