เมนูปิด

          1.บริษัทA ประกอบกิจการผลิตยางแท่ง ยางแห้ง ยางคอมปาวด์ ขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 บริษัทA ใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ. 01.1) สำหรับการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและมีความประสงค์ที่จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทการขายพืชผลทางการเกษตร ตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01) ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ระบุประเภทของกิจการที่ต้องเสียภาษี คือ ผลิตและส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง โดยได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ซึ่งการที่บริษัทA ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 01.1 ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายพืชผลทางการเกษตรที่ไม่ใช่การส่งออกหรือบริการ เนื่องจากบริษัทA เข้าใจว่า สินค้าดังกล่าวที่ผลิตได้ ถ้าขายภายในประเทศจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้าส่งออกไปต่างประเทศจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวทำให้บริษัทA ไม่สามารถทำการขายยางพาราในประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทA จึงขอยกเลิกแบบ ภ.พ. 01.1 ตามที่ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้


          2.บริษัทA ได้ชี้แจงว่า บริษัทA มีความเข้าใจในข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนว่า การที่ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ในการส่งออกสินค้าดังกล่าวได้นั้น บริษัทA จะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยก่อน นอกจากนี้การขายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย บริษัทA ก็ไม่ได้เรียกเก็บภาษีซื้อจากผู้ซื้อและถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) และในส่วนภาษีซื้อที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการขายยางธรรมชาติที่ได้รับยกเว้น บริษัทA ก็มิได้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตั้งแต่ต้นตลอดมาแสดงให้เห็นว่า บริษัทA มีเจตนาที่จะกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด หากแต่บริษัทA ผิดพลาดในการยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีความประสงค์ในเรื่องของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการส่งออกสินค้า


          3.บริษัทA ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นาย ก. ได้รับมอบหมายจากบริษัทA ให้ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราให้แก่บริษัทA โดยในการดำเนินการ นาย ก. ได้มอบหมายให้พนักงานของบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด ดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งพนักงานผู้ดำเนินการกรอกแบบทางอินเทอร์เน็ตไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษีและการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงทำให้เข้าใจผิดว่า ในการยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกยางพารา จะต้องขอให้กิจการขายยางพาราในประเทศ อันเป็นพืชผลทางการเกษตรเข้าระบบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จึงได้ใส่เครื่องหมายในช่องขอให้กิจการขายพืชผลทางการเกษตรเข้าระบบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแบบ ภ.พ. 01.1 บนหน้าจอมอนิเตอร์ โดยผู้บริหารของบริษัทA ไม่มีโอกาสทักท้วงยับยั้งเสียก่อน การจดทะเบียนขอเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่เป็นไปตามเจตนาที่ผู้บริหารของบริษัทA มอบหมาย และต่อมาบริษัทA ทราบเรื่อง จึงได้สั่งให้ดำเนินการแก้ไขทันที

          กรณีบริษัทA ประกอบกิจการผลิตยางแท่ง ยางแห้ง ยางคอมปาวด์ ขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ บริษัทA ใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทกิจการผลิตสินค้า ขายส่งวัตถุดิบการเกษตร และยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01) ทางอินเทอร์เน็ต ระบุประเภทของกิจการที่ต้องเสียภาษี คือ ผลิตและส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง และบริษัทA ยื่นแบบ ภ.พ. 01.1 สำหรับประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทการขายพืชผลทาการเกษตร เมื่อบริษัทA จะขอยกเลิกแบบ ภ.พ. 01.1 ตามที่ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในการยื่นแบบ ภ.พ. 01 และ ภ.พ. 01.1 ของบริษัทA เป็นการดำเนินการยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทA ซึ่งผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทนบริษัทA มีความเข้าใจในข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนว่า การที่ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ในการส่งออกสินค้าดังกล่าวได้นั้น บริษัทA จะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยก่อน ซึ่งเป็นการสำคัญผิดและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบริษัทA ตั้งแต่ต้น ประกอบกับการขายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย บริษัทA ไม่ได้เรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อและถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30 และภาษีซื้อจากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทA ก็มิได้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตลอดมา บริษัทA มีเจตนาที่จะกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด จึงให้ยกเลิกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขายพืชผลทางการเกษตรดังกล่าว โดยให้บริษัทA แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีที่บริษัทA ประกอบกิจการส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง ให้ถือว่า บริษัทA เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเดิมคือ วันที่ 1 ตุลาคม 2553

เลขที่หนังสือ: 0702/พ./9180 วันที่: 7 ตุลาคม 2558 เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่อนุญาตให้ยกเลิกแบบคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01.1) ข้อกฎหมาย : มาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 78/39892

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020