เลขที่หนังสือ | : กค 0702/11530 | วันที่ | : 25 ธันวาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(1) และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1.นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2550 ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) จำนวน 996,746.74 บาท มีภาษีชำระไว้เกินและขอคืนภาษีจำนวน 24,800 บาท
2.จากการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด. 91 พบว่า นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินมาคำนวณภาษีไม่ครบถ้วนขาดไปเป็นจำนวนเงิน 330,000 บาท เมื่อทำการปรับปรุงและคำนวณภาษีใหม่ปรากฏว่า มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 44,824.67 บาท เจ้าพนักงานฯ จึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากนาย ก. ตามแบบ ภ.ง.ด. 11 3.นาย ก. ได้มาพบเจ้าพนักงานฯ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 และให้การว่า นาย ก. ประกอบธุรกิจส่วนตัว ปีภาษี 2550 มีรายได้ค่านายหน้าจากบริษัท B จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท A จำกัด) (บริษัท B ) จำนวน 996,746.74 บาท และวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ได้รับเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าที่บริษัท B กำหนดไว้จำนวน 75,000 บาท ส่วนเงินรางวัลจำนวน 255,000 บาท ที่บริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 นำส่งเป็นเงินได้พึงประเมินของ นาย ก. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 นั้น นาย ก. ไม่ได้รับแต่อย่างใด ต่อมาบริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เพื่อลดยอดเงินได้ที่นำส่งเดือนภาษีมีนาคม 2550 แล้ว โดยลดยอดเงินได้ของนายอภิชาติฯ จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท 4.นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยได้นำเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าที่บริษัท B กำหนดไว้จำนวน 75,000 บาท ไปรวมคำนวณภาษี และขอคืนภาษีจำนวน 17,450 บาท 5.สำนักงานสรรพากรพื้นที่ฯ เห็นว่า บริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติมลดยอดเงินได้จำนวน 255,000 บาทแล้ว และนาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เพิ่มเติมปรับปรุงยอดเงินได้ถูกต้องแล้ว จึงได้ยกเลิกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรเลขที่ ภ.ง.ด.11 09320010-25510820-001-00057 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2551 6.สำนักงานสรรพากรภาคฯ แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ได้วิเคราะห์แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยนาย ก. แสดงเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 996,746.74 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 121,349.35 บาท และเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร จำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 7,650 บาท ซึ่งตามข้อเท็จจริงบริษัท B จ่ายเงินรางวัลให้แก่นาย ก. จำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 2,250 บาท ส่วนการจ่ายเงินรางวัล จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท นาย ก. ปฏิเสธว่า ไม่ได้รับและแสดงหลักฐานการแก้ไขข้อมูลแบบ ภ.ง.ด.3 เดือนมีนาคม 2550 ของบริษัท B ที่ได้ยื่นแบบฯ ปรับปรุงยอดแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 ดังนั้น การแสดงภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินรางวัล จำนวน 7,650 บาท จึงไม่ถูกต้องและ สำนักงาน ABแจ้งว่า นาย ก. ไม่ได้นำส่งเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากเงินรางวัลจำนวน 75,000 บาท เมื่อวิเคราะห์แบบแสดงรายการใหม่นาย ก. มีภาษีชำระไว้เกิน จำนวน 9,800 บาท | แนววินิจฉัย |
1.นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2550 มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 996,746.74 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 121,349.35 บาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 โดยขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้เกินไปจำนวน 24,800 บาท แม้ภายหลังการยื่นแบบและขอคืนภาษีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2550 เพิ่มเติม เพราะเห็นว่านาย ก. นำเงินได้ไปยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน จำนวน 330,000 บาท แต่เนื่องจากเงินได้พึงประเมินที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นั้น นาย ก. ไม่ได้รับเงินได้ดังกล่าวในบางส่วน และบริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เพื่อลดยอดเงินได้ที่นำส่งเดือนภาษีมีนาคม 2550 แล้ว โดยลดยอดเงินได้ของนาย ก. จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ยกเลิกการประเมิน หลังจากที่นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมแล้ว ดังนั้น การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 โดยขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้เกินของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2551 นั้น จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีนาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เนื่องจากไม่ได้นำเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าจำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท ที่ได้รับเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2550 ไปรวมคำนวณภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยได้นำเงินได้ดังกล่าวพร้อมภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้ยื่นรายการไว้ตามแบบ ภ.ง.ด. 91 ตาม 1. แล้ว และขอคืนภาษีตามแบบที่ยื่นเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 17,450 บาท ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเมื่อเกินกำหนด 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีภาษีที่ถูกหักภาษีเกินไป 3.กรณีตาม 1. และ 2. กรณีนาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 โดยได้ลงชื่อแสดงความประสงค์ขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตามแบบฯ ดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมานาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมโดยได้เพิ่มยอดเงินรางวัลตามที่ได้รับจริง ไปรวมคำนวณภาษีเป็นเงินได้พึงประเมินและลงชื่อขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 กรณีดังกล่าว นาย ก. ได้ยื่นแบบฯ เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงเงินได้พึงประเมินให้ถูกต้อง ดังนั้น การขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตามแบบฯ ที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 เป็นการยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 78/39963 |