เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3599
วันที่: 3 พฤษภาคม 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(5)(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ซี. จำกัด (บริษัทฯ) ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ให้บริการต่างๆ โฆษณา และให้เช่า ซึ่งในการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีการซื้อสินค้าจาก Suppliers หลายพันราย และมีการตกลงกับ Suppliers เพื่อขอส่วนลดเนื่องจากการส่งเสริมการขายจากยอดขายในแต่ละเดือน ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน นอกจากนั้น ยังมีการเรียกเก็บเงินกรณีต่างๆ เช่น ค่าสนับสนุนส่งเสริมการขาย ค่าโฆษณา ค่าบริการใช้สถานที่ รวมทั้งการเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าด้วย โดยในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะเรียกเก็บเงินโดยการหักกับค่าสินค้าที่จะจ่ายให้ Suppliers หรือนำใบแจ้งหนี้ค่าเช่าหักกับค่าขายสินค้าที่บริษัทฯ รับเงินแทนและจะจ่ายคืนให้แก่ผู้เช่า เมื่อ Suppliers หรือผู้เช่าได้รับเงินแล้วก็จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้บริษัทฯ แต่เนื่องจาก Suppliers มีจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วน และต้องใช้เวลาติดตามรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายครบถ้วนตามกำหนดเวลา บริษัทฯ จึงขออนุมัติเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินได้ สำหรับค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ และค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย โดยปฏิบัติ ดังนี้
          1. บริษัทฯ จัดทำหนังสือแจ้งไปยังร้านค้า ดังนี้
               1.1 ร้านค้าที่ติดต่อซื้อขายกันอยู่เดิม บริษัทฯ ขอไม่จัดทำหนังสือสัญญาแต่งตั้งบริษัทฯ เป็นตัวแทนในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแทนร้านค้า และมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขอจัดทำเป็นหนังสือไปยังร้านค้า โดยมีสาระสำคัญว่า "บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายของค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ และค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนร้านค้า" โดยกำหนดระยะเวลาให้ร้านค้าตอบรับ เมื่อร้านค้าตอบรับแล้ว ให้ถือว่า หนังสือดังกล่าว เป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนแล้ว
               1.2 ร้านค้าใหม่ บริษัทฯ จะจัดทำหนังสือแต่งตั้งและมอบอำนาจให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนอย่างชัดเจน
          2. บริษัทฯ ขอยกเว้นไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ขอระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยมีสาระสำคัญว่า "บริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 หรือร้อยละ 2.0 เป็นจำนวนเงิน...บาท แทนผู้จ่ายเงินได้และจะนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป" โดยบริษัทฯ จะจัดให้มีการ Scan หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ดังกล่าวด้วย
          3. บริษัทฯ ขอยกเว้นไม่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ในนามผู้จ่ายเงิน แต่บริษัทฯ จะขอยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. 53 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า "บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน" ในใบแนบ ภ.ง.ด. 53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก ของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53 ด้วย ซึ่งอาจจัดทำเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีของผู้จ่ายเงินด้วย
          4. บริษัทฯ ขอใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ
          5. บริษัทฯ ขออนุมัติออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินสำหรับเงินได้ ดังต่อไปนี้
               5.1 ค่าเช่า ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
               5.2 ค่าโฆษณา ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
               5.3 ค่าบริการใช้สถานที่ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
               5.4 ค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ และเงินค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 3.0 ตามข้อ 6 ข้อ 10 ข้อ 12/1 และข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทฯ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
          2. เนื่องจากผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 1. มีเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาในการติดตามและรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในแต่ละเดือนค่อนข้างมาก ดังนั้น กรณีบริษัทฯ มีความประสงค์เป็นตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้ เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้จ่ายเงินจะต้องจัดทำสัญญาตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้บริษัทฯ กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทน ดำเนินการดังนี้
               (1) กรณีบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้จ่ายเงิน ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 1. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินรายเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการและค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินนั้นตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้ว ให้ถือว่าหนังสือแจ้งดังกล่าวเป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนได้ แต่หากเป็นผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายรายใหม่ จะต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน
               (2) กรณีบริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการและค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผ่อนผันให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินดังกล่าวให้กับบริษัทฯ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย และบริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวรายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
                    (ก) คำว่า "รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ... พ.ศ. ..." ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
                    (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า "ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้"
                    (ค) ประเภทเงินได้
                    (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
                    (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
               (3) เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้วให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีของเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ และค่าส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย โดยมีข้อความว่า "บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 หรือร้อยละ 2.0 เป็นจำนวน...บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป" ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ Scan หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
               (4) ให้บริษัทฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า "บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน" ในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษี ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายมีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
               (5) ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษี ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 79/40098

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020