เมนูปิด

          1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่ในอาคารและให้บริการสำนักงาน โดยบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารกับคู่สัญญาจำนวน 7 ฉบับ แต่ละฉบับมีค่าเช่าเกิน 1 ล้านบาท


          2.บริษัทฯ ได้ปิดแสตมป์อากรทับลงบนตราสารสัญญาเช่าพื้นที่อาคารทั้ง 7 ฉบับดังกล่าวไว้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว โดยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด บริษัทฯ จึงขออนุมัติใช้อากรแสตมป์ปิดทับแทนการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารดังกล่าว

          กรณีตามข้อเท็จจริง สัญญาเช่าพื้นที่อาคารจำนวน 7 ฉบับดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งเป็นตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตามข้อ 2 (1) (ก) และข้อ 3 (1) (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 การที่บริษัทฯ ชำระอากรโดยการปิดแสตมป์อากรทับลงบนตราสาร จึงถือว่าตราสารดังกล่าวยังมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว พร้อมกับชำระเงินเพิ่มอากรร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 จึงไม่อาจอนุมัติให้การชำระอากรโดยการปิดแสตมป์อากรทับลงบนตราสารดังกล่าวเป็นการปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่ร้องขอได้อย่างไรก็ดี สำหรับค่าอากรแสตมป์ที่ชำระโดยวิธีปิดแสตมป์ลงบนตราสาร บริษัทฯ มีสิทธิทำคำร้องเป็นหนังสือเพื่อขอคืนค่าอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันเสียอากร ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: 0702/1986 วันที่: 8 มีนาคม 2559 เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขออนุมัติใช้อากรแสตมป์ปิดทับกระดาษแทนการชำระอากรเป็นตัวเงิน ข้อกฎหมาย : มาตรา 103 และมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40033

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020