เมนูปิด

          โรงพิมพ์ฯ หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบกำกับภาษี โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า โรงพิมพ์ฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ได้เสนอราคาค่าจ้างพิมพ์แบบพิมพ์แผ่นพับ (แบบพิมพ์ฯ) ให้กับหน่วยงานของรัฐ จำนวน 10,000 ชุดๆ ละ 3 บาท จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 30,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,100 บาท และได้ออกใบรับงาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ส่งให้ฝ่ายผลิตเพื่อจัดพิมพ์แบบพิมพ์ฯ ดังกล่าว ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 โรงพิมพ์ฯ ได้จัดส่งแบบพิมพ์ฯ ให้กับผู้ว่าจ้าง ตามใบเบิกแบบพิมพ์/ใบส่งของชั่วคราว โดยยังไม่ได้มีการออกใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษี รวมทั้งยังไม่ได้รับชำระราคาค่าแบบพิมพ์ฯ เนื่องจากผู้ว่าจ้างไม่มีงบประมาณในการสั่งจ้างพิมพ์แบบพิมพ์ฯ ดังกล่าว โรงพิมพ์ฯ จึงหารือว่า โรงพิมพ์ฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระเงินค่าแบบพิมพ์ฯ ใช่หรือไม่ อย่างไร

          กรณีโรงพิมพ์ฯ รับจ้างพิมพ์แบบพิมพ์ฯ ให้กับผู้ว่าจ้างดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ได้มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงพิมพ์ฯ ได้ส่งแบบพิมพ์ฯ โดยออกใบเบิกแบบพิมพ์/ใบส่งของชั่วคราวให้แก่กองสารนิเทศฯ โดยยังมิได้รับชำระราคาค่าแบบพิมพ์ฯ หรือออกใบกำกับภาษี แต่อย่างใด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวจึงยังไม่เกิดขึ้น

เลขที่หนังสือ: 0702/2104 วันที่: 10 มีนาคม 2559 เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบกำกับภาษี ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/10(10) และมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40050

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020