เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการรัษฎากร (ฉบับที่ 341)
พ.ศ. 2541
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัาฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541

                      มาตรา 5 สัตตรส  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับผลประโยชน์ ที่ได้จากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอน กิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศ กำหนด ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เพื่อเป็นการส่งเสริม ให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กันอันจะทำให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวมีความสามารถในการประกอบกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้ เกินกว่าเงินทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 99 ก วันที่ 28 ธันวาคม 2541)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022