เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4167 | วันที่ | : 21 เมษายน 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ | ข้อกฎหมาย | : ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) มาตรา 82 และมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ | | บริษัท ห.จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้จัดการกองทรัสต์อยู่ คือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กองทรัสต์ฯ) มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า
1. กองทรัสต์ฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่เป็นกองทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นหน่วยทางบัญชีภายใต้การบริหารจัดการโดยทรัสตี กองทรัสต์ฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตจตุจักร และสาขาอยู่ที่เขตอโศก โดยแยกยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กองทรัสต์ฯ เข้าลงทุนในสิทธิการเช่าในอาคาร ก. ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557 กับบริษัท อ. จำกัด ผู้เป็นเจ้าของอาคาร โดยเข้าทำสัญญาดังนี้
2.1 สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลาประมาณ 26 ปี
2.2 สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์
2.3 สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ
3. สำนักงานใหญ่ของกองทรัสต์ฯ มีรายได้จากการนำเงินของกองทรัสต์ฯ ส่วนที่เป็นสภาพคล่องไปลงทุน ได้แก่ ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร บัตรเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้นส่วนค่าใช้จ่ายของกองทรัสต์ฯ มี 2 ส่วน ดังนี้
3.1 ค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งกองทรัสต์ฯ ได้แก่ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าซื้อสังหาริมทรัพย์ ค่าสิทธิในเครื่องหมายบริการ ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษากฎหมาย ค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหน่วยทรัสต์ เป็นต้น
3.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทรัสต์ฯ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมผู้จัดการกองทรัสต์ฯ ค่าธรรมเนียมทรัสตีและผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน ค่าธรรมเนียมนายทะเบียนหน่วยทรัสต์ ค่าธรรมเนียมผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
4. สาขาอโศกของกองทรัสต์ฯ มีรายได้จากการประกอบธุรกิจศูนย์การค้า ได้แก่ รายได้ค่าเช่าพื้นที่ รายได้ค่าบริการ รายได้ค่าบริการสาธารณูปโภค เป็นต้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา เป็นต้นบริษัทฯ ได้หารือว่า
1. รายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ให้ใช้มูลค่าฐานภาษีจากที่ใด ระหว่างตาม แบบ ภ.พ. 30 หรือ งบกำไรขาดทุน หรือ แบบ ภ.ง.ด. 50
2. รายได้ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 เป็นรายได้รวมของสำนักงานใหญ่กับรายได้ของสำนักงานสาขา หรือพิจารณาแยกกัน
3. การพิจารณาตาม 2. ขึ้นอยู่กับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่าเป็นการยื่นรวม หรือยื่นแยกหรือไม่
4. กองทรัสต์ฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อจากค่าใช้จ่ายของกองทรัสต์ฯ ทั้งค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งกองทรัสต์ฯ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทรัสต์ฯ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการทั้งสองประเภทและไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ถูกต้องหรือไม่
5. ใบกำกับภาษีปี 2559 แต่นำมาใช้สิทธิภาษีซื้อในปี 2560 จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อโดยใช้อัตราของปีใด
6. ในกรณีที่มีผลต่างของอัตราเฉลี่ยภาษีซื้อ กองทรัสต์ฯ สามารถนำรายจ่ายที่เป็นผลต่างมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของปีถัดไปได้หรือไม่
แนววินิจฉัย | | 1. กรณีตาม 1.-4. หากกองทรัสต์ฯ ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกองทรัสต์ฯ ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ โดยกองทรัสต์ฯ ต้องพิจารณารายได้ของกิจการทั้งหมดของกองทรัสต์ฯ โดยมิได้แยกระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขา และไม่ว่าจะเป็นการแยกหรือรวมยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 2 ข้อ 4 (1) และ (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
2. กรณีตาม 5. หากกองทรัสต์ฯ มิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี เพราะเหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า หรือเหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี กองทรัสต์ฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนที่มีการรับมอบเอกสารหลักฐานใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้น ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และเมื่อมีการนำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีใดก็ต้องใช้อัตราเฉลี่ยภาษีซื้อของปีนั้น ซึ่งคำนวณมาจากส่วนของรายได้ปีที่ผ่านมา ตามข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีตาม 6. เนื่องจากกองทรัสต์ฯ มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล
เลขตู้ | : 78/39618 |