เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3929 | วันที่ | : 7 เมษายน 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ | | บริษัท อ. (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทฯ) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียน 460 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่าซื้อและเช่าแบบลีสซิ่งเครื่องจักร และทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ บริษัทฯ ได้ให้บริษัท ท. (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้เช่า) เช่าทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรแบบลีสซิ่ง กำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาเดือนธันวาคม 2554 ผู้เช่าประสบปัญหาอุทกภัยอย่างร้ายแรงซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินตามสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทฯ และผู้เช่าจึงบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 ซึ่งยังไม่ถึง 3 ปีบริษัทฯ จึงขอหารือว่า สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 นั้น เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่หากภายหลังปรากฏว่า สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งนั้นสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าด้วยเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญาแล้ว ผู้เช่าย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ใช่หรือไม่
คำว่า "การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง" หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้
กรณีการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งของบริษัทฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้า (ผู้เช่า) ส่วนใหญ่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ทำให้ทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทฯ และผู้เช่าจำต้องบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ถือว่าเป็นกรณีไม่มีตัวทรัพย์สินที่ให้เช่าด้วยเหตุพิบัติภัยธรรมชาติ สัญญาเช่าจึงระงับลงตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ทำให้สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่ต้องระงับไปนั้นเปลี่ยนไปเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0แต่เนื่องด้วยกำหนดเวลาเช่าจริงไม่ถึง 3 ปี จึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่ได้รับยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย | | กรณีการให้เช่าทรัพย์สินข้างต้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่ากับผู้เช่าทำสัญญาเช่าเครื่องจักรแบบลีสซิ่งมีกำหนด 5 ปี แต่มีการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญา เนื่องจากเครื่องจักรที่ให้เช่าได้รับความเสียหายเพราะเกิดอุทกภัย หากค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือราคาทรัพย์สิน ที่ผู้เช่าได้จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าเพราะข้อตกลงตามสัญญาหรือเพราะการเลิกสัญญาก่อนหน้าสัญญาเช่าจะสิ้นสุด มีจำนวนรวมไม่ท่วมมูลค่าของทรัพย์สินที่เช่า ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่า หรือมีพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงว่าความเสี่ยงทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดยังตกอยู่กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน สัญญาดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบเช่าดำเนินงาน (OPERATING LEASE) มิใช่สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งอันมีลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าทางการเงิน (FINANCIAL LEASE) บริษัทฯ ย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้ | : 78/39608 |