พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 -------------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2541 เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน | |||
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช กฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้หรือการประนอมหนี้ ตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วย ล้มละลาย มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษี มูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการ โอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจาก การดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วย ล้มละลายได้กำหนดให้มีมาตรการเกี่ยวกับการประนอมหนี้และการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนถึงขนาดมีหนี้สินล้นพ้นตัวให้ สามารถทำความตกลงในเรื่องหนี้สินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสดำเนินธุรกิจ ได้ต่อไป อันจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมได้ทางหนึ่ง ดังนั้น เพื่อ เป็นการส่งเสริมและจูงใจให้มีการประนอมหนี้หรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามกฎหมาย ว่าด้วยล้มละลายมากขึ้น สมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้หรือการประนอมหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้ว และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้ บริการ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้หรือ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ |
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 96 ก วันที่ 2 ธันวาคม 2541)