เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2938
วันที่: 6 มีนาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ด้วยการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 52 วรรคสอง และมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บุคคลธรรมดาโอนกรรมสิทธิ์ด้วยการให้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน (มีค่าตอบแทน) โดยผู้ซื้อรายเดียวกันโดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม และโอนขายในครั้งสุดท้าย ราย นาย อ. และนาย ส. ซึ่งเป็นผู้ขาย
แนววินิจฉัย           1.กรณีตามข้อเท็จจริงนาย ฉ. และนาย ส. ได้จดทะเบียนให้นาง ต. และนาย ภ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน (มีค่าตอบแทน) รวมสี่ครั้งและครั้งสุดท้ายได้ทำสัญญาซื้อขายเฉพาะส่วนที่เหลือให้กับนาง ต. และนาย ภ. ภายในระยะเวลาเดือนเศษ เท่านั้น เห็นได้ว่าเจตนาที่แท้จริงของนาย ฉ. และนาย ส. คือต้องการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นาง ต. และนาย ภ. โดยมีค่าตอบแทนในคราวเดียวกันทั้งแปลง แต่ได้แสดงเจตนาโดยสมรู้ร่วมกันหรือกระทำขึ้นโดยสมยอมให้นาง ต. และนาย ภ. เข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในแปลงดังกล่าวครั้งละบางส่วน เพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนั้น ในวันสุดท้ายที่มีการโอนนาง ต. และนาย ภ. ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณตามมูลค่าของที่ดินทั้งแปลงตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร และให้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วก่อนหน้าวันสุดท้ายที่มีการโอนมาหักออกจากจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่คำนวณจากมูลค่าที่ดินทั้งแปลงได้
เลขตู้: 78/39553

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020