เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3112 | วันที่ | : 13 มีนาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีจากเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48 (5) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1. ระยะเวลาการทำงานที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำมานับเป็นจำนวนปีที่ทำงานของนายส. มีอย่างไร
2.นายส. ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ปี 2553 โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 200,000บาท และเงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนผู้บริหารกับเงินอื่นๆ อีกเดือนละ 50,000 บาท ดังนี้ เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่นายส. ได้รับก่อนเกษียณอายุคือจำนวนใด และ 3.เงินบำเหน็จชดเชยและเงินเดือนชดเชยวันลาพักผ่อนที่นายส. ได้รับจำนวน 500,000บาท จะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าไร | แนววินิจฉัย |
1.กรณีที่นายส. ได้เริ่มเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2519 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2551 นายส. ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ได้กำหนดว่า ข้าราชการที่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.จุฬาฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น หากนายส. ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ดังกล่าว การนับจำนวนปีที่ทำงานเพื่อการหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นับอายุการทำงานในช่วงที่เป็นข้าราชการกับเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต่อเนื่องกัน โดยช่วงระหว่างวันที่นายส. ได้เริ่มรับราชการจนถึงวันสุดท้ายก่อนเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี ตามมาตรา 48 (5) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ส่วนช่วงระหว่างวันที่นายส. ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจนถึงวันที่ออกจากงาน ให้นับแต่จำนวนปีเช่นเดียวกัน แต่เศษของปีถ้าถึงหนึ่งร้อยแปดสิบสามวันให้ถือเป็นหนึ่งปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (5) วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีที่นายส. ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ตำแหน่งสุดท้าย ณ วันออกจากงาน โดยได้รับค่าตอบแทนรายเดือน 250,000 บาท (ประกอบด้วยเงินเดือน 200,000 บาท เงินประจำตำแหน่งบริหาร (แผ่นดิน) 9,900 บาท เงินประจำตำแหน่งวิชาการ 10,000 บาท เงิน ต.ข.ท. ป.ท.จ. 10,000 บาท ค่าตอบแทนผู้บริหาร 50,000 บาท) นั้น เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่นายส. ได้รับคือ 200,00 บาท 3.กรณีที่นายส. ได้รับเงินบำเหน็จชดเชยและเงินเดือนชดเชยวันลาพักผ่อนเป็นจำนวนรวม 500,000 บาท นั้น เงินจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน นายส. มีสิทธินำมาแยกคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่ไม่เกินเงินได้พึงประเมิน (500,000 บาท) เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 78/39560 |