เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3265
วันที่: 18 มีนาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติราชการของผู้รับจ้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           เนื่องจากสำนักงานปลัดฯ ได้ทำการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากผู้รับจ้างในอัตราร้อยละ 1 ของเงินค่าใช้จ่ายเดินทางไปปฏิบัติราชการของผู้รับจ้างในแต่ละครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า ผู้รับจ้างได้แจ้งให้สำนักงานปลัดฯ ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติราชการ ซึ่งได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่ายานพาหนะของผู้รับจ้างนั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และตามพระราชกฤษฎีกาฉบับต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าว สำนักงานปลัดฯ จึงขอหารือว่า
               1.สำนักงานปลัดฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการจ้างเอกชนทำงานในอัตราร้อยละ 1 ของค่าจ้างได้หรือไม่
               2.สำนักงานปลัดฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักและค่ายานพาหนะของผู้ว่าจ้างในอัตราร้อยละ 1 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1.กรณีสำนักงานปลัดฯ ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนทำงานด้านผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการตามข้อกำหนดรายละเอียด (TOR) จ้างทำงานด้านผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพลังงาน ซึ่งผู้รับจ้างมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามข้อ 4.1 และต้องส่งมอบงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามข้อ 6 โดยที่สำนักงานปลัดฯ กับผู้รับจ้าง ไม่ได้มีฐานะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันแต่อย่างใด ค่าตอบแทนจากการรับทำงานด้านผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสำนักงานปลัดฯ จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2.กรณีสำนักงานปลัดฯ จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานตามสัญญาจ้างของผู้รับจ้าง ซึ่งได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่ายานพาหนะนั้น เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อสำนักงานปลัดฯ จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากเงินค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ผู้รับจ้างได้รับนั้น ไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย และผู้รับจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการนั้น ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่าย และผู้รับจ้างประสงค์จะได้รับยกเว้นค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับทั้งจำนวน ผู้รับจ้างจะต้องนำหลักฐาน เช่น ใบเสร็จรับเงินมาพิสูจน์การจ่ายทุกรายการ หากไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราสูงสุดนั้นสำหรับค่าที่พักและค่าพาหนะที่ผู้รับจ้างได้รับจากการไปปฏิบัติงานตามหน้าที่เป็นครั้งคราวนั้น หากผู้รับจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตน และมีหลักฐานมาพิสูจน์รายการจ่ายดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39581

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020