พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530)
พ.ศ. 2554
--------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554
เป็นปีที่ 66 ในรัชกาลปัจจุบัน
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ ลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551
มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้
ขาย หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
สินค้า หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น
บริการ หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า
มาตรา 5 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
(2) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 555 (พ.ศ. 2555) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป)
มาตรา 6 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท
(1) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
(2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
(ก) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
(ข) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม
พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
“(3) กําไรสุทธิสําหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
(ก) ร้อยละสิบของกําไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สําหรับรอบระยะเวลาบัญชี ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
(ข) ร้อยละสิบห้าของกําไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินสามล้านบาท และร้อยละยี่สิบของกําไรสุทธิ สําหรับกําไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาทขึ้นไป สําหรับรอบระยะเวลา บัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 603 (พ.ศ. 2559) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไป)
มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3ในลักษณะ2แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาทสำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้
(1) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่1มกราคมพ.ศ. 2555แต่ไม่เกินวันที่31ธันวาคมพ.ศ. 2555
(2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาทแรกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคมพ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 564 (พ.ศ. 2556) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป)
มาตรา 8 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 6 และการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 ต้องไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและต้องไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
มาตรา 9 ให้ยกเลิก (2) ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 5 มาใช้บังคับแก่บริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
บทบัญญัติใน (2) ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปแก่บริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555
มาตรา 10 บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะแก่การลดอัตราภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงิน่ได้ให้แกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555
มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควร ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชี จากอัตราร้อยละสามสิบเหลืออัตราร้อยละยี่สิบสามและร้อยละยี่สิบ ตามลำดับ เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 และสมควรปรับปรุงการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทที่นำหลักทรัพย์มา จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจการลงทุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 93 ก ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2554)