เลขที่หนังสือ | : กค 0706/3801 |
วันที่ | : 10 เมษายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการให้เช่าเรือ และการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 80/1(2) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ท. ได้ให้บริษัทซึ่งจดทะเบียนในประเทศปานามาเช่าเรือ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ทำในราชอาณาจักร และมีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ซึ่งบริษัท ท. ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 โดยภาษีซื้อที่เกิดจากนำเข้าเรือ และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวกับเรือ บริษัท ท. มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ บริษัท ท. จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 จดทะเบียนมีผู้ถือหุ้นชาวไทย 11 คน ถือหุ้นบุริมสิทธิ รวม 33,600 หุ้น และมีผู้ถือหุ้นชาวสิงคโปร์ 3 คน ถือหุ้นสามัญรวม 14,400 หุ้น ได้มีการซื้อเรือประมงเก่าใช้แล้วขนาดน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันตันกรอส จำนวน 2 ลำ จากบริษัท ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศปานามา (โดยกรรมการบริษัทฯ เป็นชาวสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ท. ) ไม่ปรากฏสัญญาการซื้อขายเรือ โดยบริษัท ท. ได้ทำสัญญากู้เงินเพื่อซื้อเรือจากบริษัท I จำนวน 1,800,000.00 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ระยะเวลา 8 ปี จ่ายชำระเงินกู้ 225,000.00 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ซึ่งบริษัท ท. ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเรือดังกล่าวจำนวน 5,816,988.00 บาท บริษัท ท. ได้ทำสัญญาให้ INTERATIONAL. เช่าเรือดังกล่าวเพื่อทำการประมงในน่านน้ำสากล โดยไม่ปรากฏหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการ หากแต่บันทึกบัญชีเป็นการโอนหนี้ระหว่างบริษัท ท. กับ บริษัท I จากกรณีดังกล่าวจึงขอหารือเพิ่มเติมว่า 1. กรณีบริษัท ท. ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 ซึ่งกำหนดว่า การประกอบกิจการตามข้อ 2 ต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการ ซึ่งกรณีดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ 2. กรณีไม่ปรากฏสัญญาการซื้อขายเรือของบริษัท ท. ภาษีซื้อที่เกิดจากการนำเข้าเรือ และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับเรือของบริษัท ท. มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัท ท. ได้ให้บริษัท I ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศปานามาเช่าเรือ เป็นกรณีบริษัท ท. นำทรัพย์สินในราชอาณาจักรให้บริษัทต่างประเทศเช่า หากบริษัท ท. มีการส่งมอบเรือที่ให้เช่าแก่ผู้เช่าในประเทศและผู้เช่าได้ใช้เรือดังกล่าวทำการประมงนอกประเทศ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ (INVOICE) ในนามผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เอกสารใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการรับชำระเงินตาม L/C (Letter of Credit) หรือBank statement เอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยใช้สมุดคู่ฝาก เอกสารการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยไม่มีสมุดคู่ฝาก หลักฐานการรับชำระเงินตามบัตรเครดิต การใช้ E - money หรือ E - cash เว้นแต่ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 การให้บริการดังกล่าวจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การให้บริการดังกล่าวไม่มีหลักฐานตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กรณีจึงไม่เป็นไปตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 การประกอบกิจการดังกล่าวจึงเป็นการประกอบกิจการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการนำเข้าเรือ และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวกับเรือของบริษัท ท. หากเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการโดยตรงกับการประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ท. มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ |
เลขตู้ | : 70/34845 |