เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4273
วันที่: 24 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีประโยชน์จากการให้เช่าที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(5)(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         คณะบุคคล น. เป็นเจ้าของที่ดิน ได้ตกลงให้บริษัท ส. เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อประกอบธุรกิจ มีกำหนดเวลาตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2560 และในปี 2546 บริษัทฯ ได้เช่าที่ดินอีกแปลงหนึ่งจากบุคคลอื่น ซึ่งที่ดินดังกล่าวอยู่ข้างเคียงกับที่ดินของคณะบุคคลฯ ในการนี้ บริษัทฯ ได้เปิดแนวเขตที่ดินของคณะบุคคลฯ ฝั่งที่อยู่ติดกับที่ดินของบุคคลอื่นนั้น เพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง คณะบุคคลฯ เห็นว่า การกระทำของบริษัทฯ ดังกล่าว เป็นการนำที่ดินแปลงอื่นมาใช้ประโยชน์ในที่ดินของคณะบุคคลฯ ซึ่งนอกเหนือไปจากข้อสัญญาเช่าระหว่างคณะบุคคลฯ กับบริษัทฯ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ ปิดแนวเขตดังกล่าว แต่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการ คณะบุคคลฯ จึงได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทฯ ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บริษัทฯ ปิดกั้นแนวเขตที่ดินและทำรั้วไว้ตามเดิม พร้อมทั้งให้บริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายให้แก่คณะบุคคลฯ เดือนละ 6,000 บาท จนกว่าจะปิดกั้นแนวเขตและทำรั้วไว้ตามเดิมเสร็จเรียบร้อย ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
        ต่อมาปี 2549 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคณะบุคคลฯ กับบริษัทฯ สรุปความว่า คณะบุคคลฯ ยินยอมให้บริษัทฯ เปิดแนวเขตที่ดินที่พิพาทกัน เพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของคณะบุคคลฯ กับที่ดินแปลงข้างเคียงได้ตลอดระยะเวลาแห่งการเช่าที่ดิน (ถึงปี 2560) โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินค่าเปิดแนวเขตที่ดินดังกล่าวเป็นจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่คณะบุคคลฯ หากภายหลังสัญญาเช่าที่ดินระหว่างคณะบุคคลฯ กับบริษัทฯ ได้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญา โดยมิใช่ความผิดของคณะบุคคลฯ คณะบุคคลฯ ไม่จำต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่บริษัทฯ แต่อย่างใด พร้อมทั้งได้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินคดีให้แก่คณะบุคคลฯ เป็นจำนวน 200,000 บาท ด้วย ซึ่งคณะบุคคลฯ ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว คณะบุคคลฯ จึงขอทราบว่า เงินที่คณะบุคคลฯ ได้รับดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด ต้องคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร
แนววินิจฉัย:         1. กรณีคณะบุคคลฯ ให้บริษัทฯ เช่าที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจ และได้ยินยอมให้บริษัทฯ เปิดแนวเขตที่ดินที่พิพาทกัน เพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของคณะบุคคลฯ กับที่ดินแปลงข้างเคียงได้ตลอดระยะเวลาแห่งการเช่าที่ดิน (ถึงปี 2560) ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินค่าเปิดแนวเขตที่ดินดังกล่าวเป็นจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่คณะบุคคลฯ หากภายหลังสัญญาเช่าที่ดินระหว่างคณะบุคคลฯ กับบริษัทฯ ได้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญา โดยมิใช่ความผิดของคณะบุคคลฯ คณะบุคคลฯ ไม่จำต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่บริษัทฯ แต่อย่างใดนั้น เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสามารถคำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 15 เว้นแต่กรณีมีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
        2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่คณะบุคคลฯ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินคดี เป็นจำนวน 200,000 บาท ตามข้อเท็จจริงนั้น เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 โดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เลขตู้: 70/34876

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020