เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4426
วันที่: 30 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขอยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         นาง ฉ. ปัจจุบันอายุ 83 ปี ไม่มีครอบครัวและบุตร มีอาการความจำเสื่อมและหลงลืม ไม่สามารถ ตัดสินใจในนิติกรรมใดๆ ได้ ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548 ได้ถูกนาง ม. และนาง ส. ฉ้อฉลและฉ้อโกง โดยให้นาง ฉ. โอนกรรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 4 แปลง เมื่อญาติทราบเรื่องจึงได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ และฟ้องร้องต่อศาล คัดค้านการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามคดีหมายเลขดำ เพื่อให้คืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังกล่าวโดยศาลเห็นว่า เป็นเรื่องระหว่างเครือญาติ ศาลจึงทำการไกล่เกลี่ยให้คืนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่นาง ฉ. ซึ่งคู่กรณียินยอม โดยมีเงื่อนไขให้นาง ฉ. จ่ายภาษีในการโอนกรรมสิทธิ์เอง แต่นาง ฉ. ไม่มีเงินที่จะชำระภาษีได้ จึงขอยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกรณีนี้
แนววินิจฉัย:         กรณีการยื่นคำร้องคัดค้านการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อศาล ต่อมาคู่กรณีโดยนาง ส. ตกลงประนีประนอมยอมความดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ นาง ฉ. ในขณะเดียวกันนาย อ. ผู้คัดค้าน จะยื่นคำร้องขอถอนคำร้องและคำคัดค้าน พร้อมทั้งมีข้อตกลงในการโอนกรรมสิทธิ์ครั้งนี้ให้นาง ฉ. เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมและค่าภาษีที่ดินเอง การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความกัน เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืน ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ผู้โอนกรรมสิทธิ์ได้มาซึ่งที่ดินนั้น ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6)แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 และไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีดังกล่าวไว้แต่อย่างใด
เลขตู้: 70/34886

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020