เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11443
วันที่: 28 ธันวาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขอใช้ใบรายการรับชำระเงินสมทบ
ประเด็นปัญหา: มาตรา 47(1)(ฌ) มาตรา 65 และมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร
            สำนักงานประกันสังคม มีภารกิจในการรับชำระเงินสมทบของสถานประกอบการและผู้ประกอบการสามารถชำระเงินสมทบผ่านธนาคาร ได้อีกทางหนึ่ง เมื่อได้รับชำระเงินสมทบแล้ว สำนักงานฯ และธนาคารจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สถานประกอบการไว้เป็นหลักฐาน แต่มีสถานประกอบการหลายแห่งแจ้งว่าใบเสร็จรับเงินสูญหาย จึงขอให้สำนักงานฯ ถ่ายสำเนาใบเสร็จรับเงินพร้อมรับรองสำเนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษี ทำให้สำนักงานประกันฯ มีปัญหาในการค้นหาสำเนาใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนมาก ในการรับชำระเงินสำนักงานได้ใช้ระบบ Computer Online ในการออกใบเสร็จรับเงินซึ่งสามารถพิมพ์รายงานเพื่อตรวจสอบการชำระเงินได้ จึงหารือว่า สำนักงานฯ สามารถใช้ใบรายการรับชำระเงินสมทบของสถานประกอบการแทนสำเนาใบเสร็จรับเงินเพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีได้หรือไม่ และตามหนังสือที่อ้างถึง 2. สำนักงานฯ ได้มีหนังสือชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
          1. เงินสมทบตามใบเสร็จรับเงินที่สำนักงานฯ เป็นผู้ออกให้ เป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) และส่วนที่สถานประกอบการ (นายจ้าง) จ่ายสมทบคนละครึ่ง ส่วนเงินสมทบตามใบเสร็จรับเงินที่ชำระผ่านธนาคารนั้น แสดงจำนวนเงินที่ชำระเป็นยอดรวม แต่สำนักงานฯสามารถเรียกประวัติการรับชำระเงินของแต่ละสถานประกอบการจากระบบ Computer Online ได้
          2. นอกจากผู้ประกันตนตามข้อ 1. แล้ว สำนักงานฯ ยังมีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 (ประกันตนโดยสมัครใจ) ซึ่งหมายถึงผู้ที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างและได้สมัครเป็นผู้ประกันตนต่อไปโดยต้องจ่ายเงินสมทบทั้งจำนวนในอัตราเงินสมทบดังนี้
          (1) ปี พ.ศ.2543-2545 ในอัตราร้อยละ 3
          (2) ปี พ.ศ.2546 อัตราร้อยละ 4 และ
          (3) ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นไป อัตราร้อยละ 4.5
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา (นายจ้าง) ใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้ชำระเงินสมทบ ณ สำนักงาน ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวมีรายการชัดแจ้งแสดง เดือนที่จ่ายเงินสมทบ จำนวนเงินสมทบที่นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จ่าย และเงินเพิ่ม สามารถนำไปเป็นหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ หรือในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ ส่วนใบเสร็จรับเงินที่ชำระผ่านธนาคารนั้น ยอดเงินตามใบเสร็จรับเงินเป็นยอดเงินรวมที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบ ไม่มีรายการที่แสดงว่านายจ้างจ่ายสมทบจำนวนเงินเท่าไร และลูกจ้างจ่ายสมทบจำนวนเงินเท่าไร จึงเป็นใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความไม่ชัดเจน จึงขอให้สำนักงานฯ แก้ไขและปรับปรุงใบเสร็จรับเงินที่ชำระเงินสมทบผ่านธนาคารใหม่โดยให้แสดงแยกยอดจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบให้ชัดแจ้ง เพื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา (นายจ้าง)และผู้ประกันตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จะได้นำไปหักค่าใช้จ่าย หรือหักลดหย่อนให้ถูกต้องต่อไป
          2. กรณีใบเสร็จรับเงินสูญหาย และสำนักงานฯ มีปัญหายุ่งยากในการค้นหาใบเสร็จรับเงินจึงขอใช้ใบรายการรับชำระเงินสมทบแทน เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา (นายจ้าง) หรือผู้ประกันตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นำไปเป็นหลักฐานในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ หรือในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนำไปเป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เมื่อพิจารณาจากใบรายการรับชำระเงินสมทบซึ่งมีรายการ ชื่อสถานประกอบการ วันที่ชำระเงิน งวดเดือน เลขที่ใบเสร็จรับเงิน และจำนวนเงิน หลักฐานดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นหนังสือที่เป็นหลักฐานแสดงว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา (นายจ้าง) และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ชำระหรือนำส่งเงินสมทบให้สำนักงานฯ แล้ว กรณีถือเป็นใบรับตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น สำนักงานฯ สามารถใช้ใบรายการรับชำระเงินสมทบแทนภาพถ่ายสำเนาใบเสร็จรับเงิน กรณีใบเสร็จรับเงินสูญหายได้ แต่โดยเหตุที่ใบรายการชำระเงินสมทบดังกล่าวรายการจำนวนเงินสมทบที่แสดงไว้เป็นยอดรวมที่มิได้แยกยอดจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบหรือผู้ประกันตนลูกจ้างจ่ายเงินสมทบซึ่งไม่ชัดเจน จึงขอให้สำนักงานฯ ปรับปรุงแก้ไขรายการช่องจำนวนเงินสมทบ โดยให้แยกส่วนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบ รวมถึงช่องเงินเพิ่มกรณีชำระเกินกำหนดเวลา (ถ้ามี) และควรระบุเป็นช่วงเวลาตามรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือปีภาษีบุคคลธรรมดา เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ยื่นเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี หรือครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเป็นปีภาษี และครึ่งปีภาษี และขอให้มีช่องยอดรวมเงินสมทบที่ชำระสรุปในตอนท้ายเพื่อความสะดวก ความถูกต้อง และความชัดเจนที่จะใช้เป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ หรือในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 สามารถนำไปเป็นหลักฐานการหักลดหย่อนภาษี ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรได้
เลขตู้: 67/33253

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020