เลขที่หนังสือ | : กค 0706/520 |
วันที่ | : 21 มกราคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีฟื้นฟูกิจการตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340)พ.ศ. 2541 |
ประเด็นปัญหา | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ.2541 |
ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัท ก จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลายกลางให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ข จำกัด (บริษัทลูกหนี้ฯ) ซึ่งศาลล้มละลายได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 บริษัทฯ ขอหารือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ | |
แนววินิจฉัย | 1. บริษัทลูกหนี้ฯ จดทะเบียนบริษัทจำกัดในประเทศไทยทะเบียนเลขที่ 1376/2537 เริ่มประกอบกิจการเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2537 ประกอบกิจการให้บริการคลังเก็บสินค้าเหลวและบริการขนถ่ายสินค้าเหลว ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทลูกหนี้ฯ คือบริษัท ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของบริษัทลูกหนี้ฯ บริษัทลูกหนี้ฯ ประกอบธุรกิจประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องไม่สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลาง สั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ฯ 2. ตามแผนฟื้นฟูกิจการ กลุ่มเจ้าหนี้ของบริษัทลูกหนี้ฯ ประกอบด้วย 2.1 เจ้าหนี้รับเหมาก่อสร้างหลัก เจ้าหนี้กลุ่ม ง จำนวน 3,234 ล้านบาท - บริษัท ง จำกัด - บริษัท จ จำกัด 2.2 เจ้าหนี้บริษัทที่เกี่ยวข้อง เจ้าหนี้กลุ่มค จำนวน 669 ล้านบาท - บริษัท ค จำกัด (มหาชน) - บริษัท ฉ จำกัด 3. แผนฟื้นฟูกิจการ ได้มีการกำหนดให้นำรายได้ที่เกิดจากการดำเนินงานของถังบรรจุน้ำมันมาจ่ายชำระหนี้ โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (ค และบริษัทลูกหนี้ฯ) ตกลงที่จะให้บริการหรือให้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่เช่าและชำระค่าบริการ ค่าเช่า แก่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสัญญา 3 ฉบับดังนี้ 3.1 สัญญาการจัดการและเก็บรักษาปิโตรเคมี ค จะชำระค่าบริการจากการใช้ถังบรรจุน้ำมัน การบริการจัดการรวมทั้งการขนส่งผลิตภัณฑ์นำเข้าพื้นที่ให้แก่บริษัทลูกหนี้ฯ 3.2 สัญญาการบริการ บริษัทลูกหนี้ฯ จะชำระค่าบริการสำหรับการจัดการดำเนินการพื้นที่ถังบรรจุน้ำมันให้แก่ ค 3.3 สัญญาเช่าที่ดิน บริษัทลูกหนี้ฯ จะชำระค่าเช่าสำหรับการใช้ประโยชน์ บนที่ดินที่เช่าของ ค 4. แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดหลักการในการชำระหนี้เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้ 4.1 นำยอดรายได้เงินสดสุทธิที่เกิดจากค่าบริการที่บริษัทลูกหนี้ฯ ได้รับในแต่ละเดือนหักด้วยค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดิน และค่าบริการตามสัญญาการให้บริการ ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้กลุ่ม ง 4.2 สำหรับการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้กลุ่มค เจ้าหนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะให้ใช้วิธีการยอดรวมขั้นต้น (Gross Up Amount) เพื่อให้การชำระหนี้ต่างกลุ่มเป็นไปอย่าง เจ้าหนี้กลุ่ม ค (669 ล้านบาท) เจ้าหนี้กลุ่ม ง (3,234 ล้านบาท) = ร้อยละ 20.7 ยอดรายได้สุทธิ x 20.7 = ยอดรวมขั้นต้น ยอดรวมขั้นต้นจะนำไปลดหนี้ทางบัญชีมิใช่การชำระหนี้ด้วยเงินสดตามลำดับของการชำระหนี้ (ดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ยปัจจุบัน เงินต้น) ตัวอย่างเช่น (รายได้เดือนมกราคม) รายได้จากค่าบริการ = 856,243 .- (เหรียญสหรัฐฯ) หัก รายจ่าย = 239,576 .- (เหรียญสหรัฐฯ) รายได้สุทธิ = 616,667 .- (เหรียญสหรัฐฯ) ยอดรวมขั้นต้น = 616,667 x 20.7% x 43.4828 = 5,550,582.42 บาท 1 เหรียญสหรัฐฯ = 43.4828 บาท ยอดรายได้สุทธิจำนวน 616,667 X 43.4828 = 26,814,407.83 บาท นำไปชำระหนี้(เงินสด) ให้เจ้าหนี้กลุ่ม ง ส่วนยอดรวมขั้นต้นจำนวน 5,550,582.42 บาท นำไปลดหนี้ทางบัญชีเจ้าหนี้กลุ่ม คในงวดการชำระหนี้เดือนกุมภาพันธ์ 2547 โดยไม่มีการชำระเงินสด ดังนั้น บริษัทลูกหนี้ฯ ขอหารือว่ายอดรายได้สุทธิและยอดรวมขั้นต้นจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามนัยมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 หรือไม่ ดังความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น กรมสรรพากรขอเรียนว่า มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายแล้ว บริษัทลูกหนี้ฯ และเจ้าหนี้ได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายแล้วเมื่อวันทื่ 23 สิงหาคม 2544 ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นำ ค่าบริการที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทลูกหนี้ฯ กับ ค ไปชำระหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่ม ง (ยอดรายได้สุทธิ) และเจ้าหนี้กลุ่มค (ยอดรวมขั้นต้น) กรณีดังกล่าวมิได้มีการโอนทรัพย์สินขายสินค้าหรือให้บริการแก่เจ้าหนี้แต่เป็นการชำระหนี้กันตามปกติ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 หากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ค่าบริการ บริษัทลูกหนี้ฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 |
เลขตู้ | : 68/33291 |