|
เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.03)/111 | |
วันที่ | : 31 มกราคม 2548 | |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่านายหน้าจากการให้บริการจัดผู้เชี่ยวชาญ
| |
ประเด็นปัญหา | : มาตรา 41 มาตรา 50 มาตรา 76 ทวิ มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(1)
| |
| 1. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสถานีบริการน้ำมันและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นได้ว่าจ้างให้ บริษัท K ซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศอังกฤษเพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ 4 คน เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยบริษัท K จำกัด จะทดรองจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ผู้เชี่ยวชาญไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บคืนจากบริษัทฯ โดยในใบแจ้งหนี้จะเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินเดือนและค่าตอบแทนที่จ่ายจริงรวมมาใน
| ใบแจ้งหนี้ด้วย บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สรุปได้ว่า
1.1 บริษัท K เป็นคู่สัญญากับบริษัทฯ ในการจัดหาชาวต่างชาติและจ่าย
ค่าจ้างให้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยจะเรียกคืนค่าจ้างชาวต่างชาติที่จ่ายแทนไปก่อนแล้วรวมคิดค่าบริการดำเนินการจากบริษัทฯ
1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติกับบริษัทต่างประเทศนั้น
ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจะอยู่ในบังคับของบริษัทต่างประเทศ ตามสัญญาจ้างและบริษัทต่างประเทศสามารถที่จะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดก็ได้ตามคำสั่งหรือการมอบหมายงาน สำหรับการบริหารงานธุรกิจสถานีน้ำมันของบริษัทผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศต้องดำเนินการภายใต้นโยบายที่ถูกกำหนดไว้ในสัญญาจ้างโดยมีระยะเวลาในการมอบหมายงานให้มาประจำที่ บริษัทฯ มีกำหนดเวลา 4 ปี ซึ่งอาจยืดเวลาออกไปอีก 1 ปี
1.3 คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานยังจะได้รับการพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือความดีความชอบจากบริษัทต่างประเทศ ในระหว่างที่ได้รับมอบหมายงานในประเทศไทย
จากข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ จึงหารือว่า
(1) ค่าบริการร้อยละ 5 ดังกล่าว เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่
(2) ค่าบริการร้อยละ 5 นี้ จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร หรือไม่
|
แนววินิจฉัย | 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีภาระภาษีของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ
|
กรณีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาทำงานเป็นผู้บริหารด้านการตลาดทางธุรกิจน้ำมันในประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ จำกัด เป็นผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว
บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี หากผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย กรณีจำต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวด้วย
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท K จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของเจอร์ซี (Jersey) ได้จัดส่งบุคลากรให้เข้ามาทำงานให้บริษัทฯ ในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่บุคลากรดังกล่าวและต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ บริษัท K อีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินเดือนบุคลากร กรณีจึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท K จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยบุคลากรที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นเสียภาษี
เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไปให้กับบริษัท K จึงมีหน้าที่ต้องหักและ
นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5.0 ของเงินได้ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528ฯ
เนื่องจากเจอร์ซี่ (Jersey) ไม่อยู่ในคำนิยามของคำว่า สหราชอาณาจักร ตามข้อ 3 วรรค 1 (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการหลีกเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ และประเทศไทยก็ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับเจอร์ซี่ กรณีจึง
ไม่มีประเด็นการยกเว้นตามอนุสัญญาภาษีซ้อนต้องพิจารณาแต่อย่างใด
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้บริการของบริษัท K เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการตามสัญญาออกไปให้กับบริษัท K จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการ ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
|
เลขตู้ | : 68/33325 |