เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/504
วันที่: 10 มิถุนายน 2548
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขออนุมัตินำอากรแสตมป์ที่ปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน และขออนุมัติเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
ประเด็นปัญหา: มาตรา 103
           บริษัท ธนาคารฯ ขออนุมัตินำอากรแสตมป์ที่ชำระไว้แล้วโดยการปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน และขออนุมัติเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากร โดยมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
          1. ฝ่ายตรวจสอบภายในด้านภาษีของบริษัท ธนาคารฯ ได้ให้แผนกต่าง ๆ ตรวจงานที่กระทำอยู่ว่ามีรายการใดบ้างที่เกี่ยวกับการเสียอากรแสตมป์ และได้ปฏิบัติถูกต้องตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการ ปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานพบว่ามีรายการ Cashier Order Cheque ซึ่งบริษัท ธนาคารฯ จัดทำขึ้นเป็นพิเศษมิได้อยู่รวมกับบัญชีคุมการจ่ายอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว แต่ได้ชำระอากรแสตมป์ด้วยการปิดทับลงบนตราสารแทน เนื่องจากพนักงานมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมาย
          2. บริษัท ธนาคารฯ จึงขออนุมัตินำอากรแสตมป์ที่ชำระไว้แล้วด้วยการปิดทับลงบนตราสารดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน และขออนุมัติเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยบริษัท ธนาคารฯ ได้ยื่นแบบขอชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารบางลักษณะ อ.ส.4ก. ชำระเฉพาะเงินเพิ่มไว้แล้วตามใบเสร็จรับเงินเป็นเงินจำนวน 2,225.21 บาท
แนววินิจฉัย          1. Cashier Order Cheque เป็นเช็คที่ออกในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่ง ตราสาร 12 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งเป็นตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงิน ตามข้อ 3(2) และข้อ 4(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 การที่บริษัท ธนาคารฯ ชำระอากรโดยการปิดอากรแสตมป์ทับลงบนตราสารจึงถือว่าตราสารดังกล่าวยังมิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ธนาคารฯ จึงมีหน้าที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว และตามข้อเท็จจริงหากผู้ที่มีหน้าที่เสียอากรได้ปิดแสตมป์ลงบนตราสารที่ถูกกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป เมื่อผู้มีหน้าที่เสียอากรนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมเงินเพิ่มอากร ให้ เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากรตามคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ท.ป.84/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542
          2. กรณีขออนุมัตินำอากรแสตมป์ที่ชำระไว้แล้วโดยการปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรที่ต้องชำระเป็นตัวเงินนั้น ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ สม.2/2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบอากรแสตมป์ ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินนำอากรแสตมป์ที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรได้ชำระไว้แล้วโดยการปิดแสตมป์ทับลงบนตราสาร ไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงินได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุความการขอคืนอากรตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร หากกรณีผู้ที่ต้องเสียอากรได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับลงบนตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ได้กระทำก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 แต่เนื่องจากความผิดพลาดของบริษัท ธนาคารฯ เกิดจากความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและ เมื่อตรวจพบความผิดพลาดก็ได้ยื่นแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารบางลักษณะ (อ.ส.4ก.) ชำระเงินเพิ่มไว้แล้วโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนเป็นหนังสือ ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่ามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร ประกอบกับเรื่องทำนองดังกล่าวกรมสรรพากรเคยมีแนววินิจฉัยอนุมัติให้ผู้ต้องเสียอากรนำแสตมป์ที่ปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงินได้เช่นเดียวกับผู้เสียอากรก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีจึงเห็นควรให้บริษัทธนาคารฯ นำอากรแสตมป์ที่ได้ชำระไว้แล้วโดยการปิดแสตมป์ทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงินได้เช่นเดียวกับผู้เสียอากรก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2542
          3. กรณีขออนุมัติเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากรนั้น เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.84/2542ฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียอากรต้องชำระเงินเพิ่มอากรเพราะได้นำตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินไปชำระอากรด้วยการปิดแสตมป์อากรตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป เมื่อดำเนินการให้ถูกต้องโดยนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมทั้งเสียเงินเพิ่ม จึงให้เสียเงินเพิ่มอากรร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากร แต่สำหรับบริษัท ธนาคารฯ ซึ่งดำเนินการโดยนำแสตมป์ที่ปิดทับลงบนตราสารไปหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ชำระเป็นตัวเงิน และขออนุมัติเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากร จึงไม่เป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.84/2542ฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542
          อย่างไรก็ดี บริษัท ธนาคารฯ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร เมื่อตรวจพบข้อผิดพลาดก็ได้แก้ไขให้ถูกต้องโดยมิได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ จึงเห็นควรอนุมัติลดเงินเพิ่มอากรให้บริษัท ธนาคารฯ คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากร โดยเริ่มนับแต่วันที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามข้อ 3 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512
เลขตู้: 68/33459

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020