เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6176
วันที่: 26 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์
ประเด็นปัญหา: มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
           นาย ป. หารือเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ดังนี้
          1. วัตถุประสงค์ของการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์คืออะไร
          2. กรณีธนาคารฯ เป็นเจ้าของตึกแถวหลังหนึ่งซึ่งไม่มีผู้อยู่อาศัยมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และธนาคารฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตึกแถวนี้โดยปล่อยร้างไว้ ถือว่าตึกแถวนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการเฉพาะของธนาคารฯ หรือไม่
          3. หากธนาคารฯ ได้ครอบครองตึกแถวเกิน 5 ปีแล้ว การขายตึกแถวดังกล่าวธนาคารฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีกหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษีรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในเดือนภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีธนาคารฯ เป็นเจ้าของตึกแถว ซึ่งได้มาเกิน 5 ปีแล้ว และไม่มีผู้อยู่อาศัยและไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อธนาคารฯ ขายตึกแถวดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับ จากการขายตึกแถวทั้งหมดมาคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33496

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020