เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5801
วันที่: 14 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่า
ประเด็นปัญหา: มาตรา 65 มาตรา 77/1(8)(10) มาตรา 78
           1. บริษัท ก. ได้เรียกเก็บเงินประกัน และเงินมัดจำจากผู้เช่าหรือผู้รับบริการเมื่อมีการลงนามในสัญญาบริการ โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจะต้องคืนเงินประกันและเงินมัดจำที่เรียกเก็บคืนผู้รับบริการโดยไม่มีดอกเบี้ย เงินประกันและเงินมัดจำที่กล่าวถึงได้แก่
              - เงินประกันการรับบริการตามสัญญาเป็นจำนวน 3 เท่าของอัตราค่าบริการ รายเดือน
              - เงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า และเงินประกันมิเตอร์น้ำประปา
              - เงินมัดจำสายโทรศัพท์และเงินมัดจำบัตรจอดรถ
          2. บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินชดเชยความเสียหายจากผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของอาคารชำรุดเสียหาย ซึ่งเงินดังกล่าวได้รับชำระโดยบริษัทประกันของผู้ใช้บริการ ซึ่งไม่มีการชำระในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ
          3. บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินประกันการเข้าตกแต่งอาคาร โดยระบุไว้ในสัญญาเช่าเมื่อผู้เช่าอาคารได้ตกแต่งอาคารเสร็จเรียบร้อย และได้ดำเนินการให้บริษัทฯ เข้าตรวจเช็คพื้นที่เช่าตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว หากไม่พบความเสียหายใด ๆ บริษัทฯ จะคืนเงินประกันดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าทันที เงินประกันดังกล่าวเรียกเก็บไม่เกิน 3 เท่าของค่าเช่ารายเดือน และสัญญาเช่าทรัพย์สิน มีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี
แนววินิจฉัย          กรณีตาม 1. การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินประกันการรับบริการ แยกพิจารณาได้ดังนี้
              (1) การเรียกเก็บเงินประกันการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินประกัน ที่เรียกเก็บในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ข้อ 3(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
                  (ก) โดยขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจได้มีการเรียกเก็บเงินประกัน
                  (ข) ต้องมีการคืนเงินประกันให้แก่ผู้เช่าทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเงื่อนไข แต่กรณีเกิดความเสียหายผู้ให้เช่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้
                  (ค) เงินประกันที่เรียกเก็บต้องไม่เกิน 6 เท่าของค่าเช่ารายเดือน
                  (ง) สัญญาให้เช่าทรัพย์สินมีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี
                  กรณีการเรียกเก็บเงินประกันที่ไม่เข้าเงื่อนไขตาม (ก)-(ง) ข้างต้น เงินประกันดังกล่าวจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
              (2) กรณีการเรียกเก็บเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า และเงินประกันมิเตอร์น้ำประปาถือเป็นส่วนหนึ่งของการขายสินค้า สำหรับเงินมัดจำสายโทรศัพท์และเงินมัดจำบัตรจอดรถถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ บริษัทฯ ต้องนำเงินประกันดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(1) และ มาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ประกอบกับข้อ 2(3)(ก) และ (ข) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
              กรณีการเรียกเก็บเงินประกันที่ไม่เข้าเงื่อนไขตาม (1)(ก)-(ง) ข้างต้น เงินประกันและเงินมัดจำดังกล่าวบริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
          2. กรณีตาม 2. การที่บริษัทฯ เรียกเก็บเงินชดเชยความเสียหายจากผู้ใช้บริการ ซึ่งเงินดังกล่าวได้รับชำระโดยบริษัทประกันของผู้ใช้บริการ ไม่ถือเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำเงินชดเชยความเสียหายดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
          3. กรณีตาม 3. การเรียกเก็บเงินประกันการเข้าตกแต่งอาคารของผู้เช่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการที่มิใช่การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ต้องนำเงินประกันดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับกรณีตาม 1.(2)
เลขตู้: 68/33489

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020