เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5563
วันที่: 7 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขอคืนเงินภาษีอากรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ประเด็นปัญหา: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433)
           นาย จ.ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวน 810,714 บาท ระบุมูลเหตุที่ขอคืนเนื่องจากได้รับยกเว้นรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า ธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 กับ บริษัท ถ. จำกัด โดยนาย ถ. และบริษัทลิต จำกัด โดยนาย จ. ในฐานะลูกหนี้ สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้มีบุคคลค้ำประกันและมีที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ถ. และนาย จ. จดทะเบียนจำนองค้ำประกันรวมจำนวน 48 แปลง ต่อมานาย จ. ลูกหนี้/ผู้ค้ำประกัน ตกลงโอนที่ดินจำนวน 45 แปลง ตีชำระหนี้บางส่วนให้แก่ธนาคารฯ เป็นจำนวนเงิน 203,440,000 บาท ณ วันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยในสัญญาฯ ระบุให้ลูกหนี้มีสิทธิขอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันจดทะเบียนโอนหลักทรัพย์ตีชำระหนี้ให้แก่ธนาคารฯ โดยลูกหนี้ตกลงเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 นาย จ. ลูกหนี้/ผู้ค้ำประกัน ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 50376, 50394, 1387, 1429, 46121 คืนจากธนาคารฯ ในราคา 18,853,783 บาท และได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1387, 1429, 46121 ให้กับการเคหะแห่งชาติในวันเดียวกันในราคา 33,314,400 บาท และนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้ที่เหลือให้กับธนาคารฯ จำนวน 20,564,705.93 บาท ซึ่งช่วงของการโอนขายที่ดินระหว่างธนาคารฯ ไปยังลูกหนี้เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อมาธนาคารฯ ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรจากการโอนที่ดินตามกรณีดังกล่าวจำนวน 810,714 บาท
แนววินิจฉัย          1. กรณีที่สถาบันการเงิน (ธนาคารฯ) เจ้าหนี้ โอนขายที่ดินให้กับลูกหนี้ผู้ซื้อตามมติที่ประชุมของธนาคารฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 เป็นการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 สถาบันการเงิน (ธนาคารฯ) จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน (ที่ดิน) อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตามมาตรา 3 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงิน (ธนาคารฯ ) ได้ชำระภาษีอากรไปแล้วจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้
          2. สำหรับกรณีที่ลูกหนี้โอนขายที่ดินให้กับการเคหะแห่งชาติ แล้วนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้ให้กับธนาคารฯ จะได้รับสิทธิยกเว้นรัษฎากรตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับจำนวนเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบัน การเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ต้องเป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ได้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 กรณีตามข้อเท็จจริงลูกหนี้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยซื้อคืนจากธนาคารฯ แล้ว และมิได้มีภาระจำนองแต่อย่างใด ถึงแม้ลูกหนี้จะนำเงินจากการขายที่ดินให้แก่การเคหะแห่งชาติไปชำระหนี้ให้กับธนาคารฯ ก็ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 68/33477

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020