เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6208 |
วันที่ | : 28 กรกฎาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีค่าทดแทนจากการเวนคืน |
ประเด็นปัญหา | : มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร |
หจก. ส. หารือภาษีอากร โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ 1. ห้างฯ ถูกเวนคืนที่ดิน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้ในการสร้างหรือขยายทางหลวง ได้รับเงินทดแทนจากการเวนคืนทั้งสิ้น 15,213,600.-บาท โดยได้นำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว ตามแบบ ภ.ธ.40 2. ห้างฯ ยื่นอุทธรณ์เพื่อรับค่าทดแทนในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง และค่ารื้อย้ายและติดตั้งเครื่องจักร และค่าความเสียหายเนื่องจากต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ ปรากฏว่า ได้รับอนุมัติ ให้จ่ายเงินค่าทดแทน ดังนี้ 2.1 ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง จำนวนเงิน 37,305,746.- บาท 2.2 ค่าทดแทนการรื้อย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำนวนเงิน 49,134,336.- บาท 2.3 ค่าเสียหายเนื่องจากต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ จำนวนเงิน 233,309.- บาท 3. กรณีได้รับค่าทดแทนฯ ตาม 2 ห้างฯ ขอทราบว่า 3.1 ห้างฯ ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์หรือไม่ เนื่องจากค่าทดแทนทั้งสองจำนวนเป็นเงินได้ที่รับโดยไม่ต้องดำเนินการ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดิน 3.2 กรณีห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนมูลค่าของที่ดินตาม 1. แล้วนั้น หากห้างฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากค่าทดแทนฯ ที่ได้รับในภายหลัง จะถือได้ว่าเป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมหรือไม่ 3.3 กรณีห้างฯ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากค่าทดแทนฯ ตาม 2. แต่มิได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลา ขอให้พิจารณายกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้แก่ห้างฯ | |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีห้างฯ ถูกเวนคืนที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือขยายทางหลวง และได้รับค่าทดแทนเวนคืนทั้งสิ้นจำนวน 15,213,600 บาท และนำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ต่อมาได้รับค่าทดแทนจากการเวนคืนเพิ่มเติมจากการยื่นอุทธรณ์เพื่อรับค่าทดแทนในส่วนค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง ค่าทดแทนการรื้อย้ายและติดตั้งเครื่องจักร และค่าความเสียหายเนื่องจากต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ แต่ละรายการรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 86,673,391 บาท เงินค่าทดแทนที่ได้รับ จากการยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อห้างฯ ได้รับ ห้างฯ ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากรายรับดังกล่าวเป็นรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) ของพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 เนื่องจากรายรับดังกล่าวห้างฯ ได้รับมาภายหลังจากการยื่นอุทธรณ์ต่อกรมทางหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเวนคืน ห้างฯ สามารถนำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะให้ถูกต้องครบถ้วนต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีที่ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แต่อย่างใด เห็นควรขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะออกไปอีก 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือตอบฉบับนี้ แต่ต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89/1 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยไว้แล้วตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 เรื่อง การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 2. กรณีกรมทางหลวงผู้จ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กรมทางหลวงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินค่าทดแทนที่จ่าย และให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของเงินค่าทดแทนที่จ่าย และให้ถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้ของห้างฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักภาษีไว้ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 68/33501 |