เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6235
วันที่: 28 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์จากการทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดิน
ประเด็นปัญหา: มาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 91/1(4) มาตรา 91/2(6) มาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร
           นาย ก. ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเจ้าพนักงานของสำนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ จึงมิได้ชำระอากรแสตมป์ ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ต่อมาได้ชำระอากรแสตมป์แล้ว สำหรับเงินเพิ่มอากรแสตมป์ 6 เท่า ในกรณีไม่เสียอากรแสตมป์ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 114(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ยังมิได้ชำระโดยแจ้งว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ เนื่องจาก ณ วันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเจ้าพนักงานมิได้เรียกเก็บ ซึ่งมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงได้ยื่นคำร้องขอ งดเงินเพิ่มอากรแสตมป์
แนววินิจฉัย          กรณีนาย ก. ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากถือครองที่ดินดังกล่าวเกิน 5 ปี จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ดังนั้น ใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ กรณีไม่ได้ชำระอากรแสตมป์ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ถือว่าปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเงินเพิ่มอากร 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสีย ตามมาตรา 114(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาได้ไปชำระค่าอากรแสตมป์โดยยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ เนื่องจากไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีจึงมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินให้ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องชำระ เงินเพิ่มอากรแต่อย่างใด ตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33503

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020