เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6236
วันที่: 28 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีของดเงินเพิ่มอากร
ประเด็นปัญหา: มาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 91/1(4) มาตรา 91/2(6) มาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร
           น.ส. ศ. ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินให้แก่นาง ก. โดยไม่มีค่าตอบแทน ระยะเวลาถือครอง 10 ปี เจ้าพนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ต่อมา น.ส. ศ. ได้ยื่นแบบ ชำระอากรแสตมป์แล้ว ส่วนเงินเพิ่มอากร 6 เท่า ยังมิได้ชำระ และได้ยื่นคำร้อง ของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ โดยชี้แจงเหตุผลว่า ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้จ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บเมื่อได้รับใบเสร็จ ก็เข้าใจว่าเรียบร้อยแล้วมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นเพราะสำนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บ และเมื่อทราบว่าต้องชำระค่าอากรแสตมป์ ก็ได้ชำระทันที
แนววินิจฉัย          กรณีทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทน เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้กระทำเกินห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ดังนั้น ใบรับสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เมื่อไม่ได้ชำระอากรแสตมป์ ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จึงเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องรับผิดเงินเพิ่มอากร 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสีย ตามมาตรา 114(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อทราบว่าต้องชำระ ค่าอากรแสตมป์ ก็ได้ไปชำระ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 และยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ จึงไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีมีเหตุอันสมควรอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินให้ ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรแต่อย่างใด ตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33504

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020