เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6667
วันที่: 9 สิงหาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพนักงานคืนกรรมสิทธิ์ในหุ้นเมื่อผิดเงื่อนไข
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         สำนักงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับบริษัทแม่ในต่างประเทศเสนอหุ้นให้พนักงานในประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทน สรุปความว่า บริษัท ก. เป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายไทย และประกอบกิจการในประเทศไทย โดยบริษัท A จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในต่างประเทศ (บริษัทแม่) และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ก. 75% บริษัทแม่และบริษัท ก. ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่าย โดยบริษัทแม่และบริษัท ก. ต่างฝ่ายต่างผลิตสินค้า และไม่มีสัญญาว่าจ้างให้ผลิตสินค้าให้แก่กัน บริษัทแม่มีความประสงค์ที่จะเสนอหุ้นของบริษัทแม่ให้กับพนักงานของกลุ่มบริษัทในเครือทั่วโลกรวมถึงพนักงานในประเทศไทย โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัทแม่ และกำหนดเงื่อนไขภายใต้หลักเกณฑ์ของตลาดหุ้นในต่างประเทศไว้ว่า ในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่เสนอหุ้นให้กับพนักงานนั้น พนักงานไม่มีสิทธิที่จะโอนขายหุ้นที่ได้รับหากไม่ได้รับความยินยอมและอนุมัติจากบริษัทแม่ แต่ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลรวมถึงมีสิทธิออกเสียงให้ฐานะผู้ถือหุ้น ภายในระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว หากพนักงานลาออก หรือหมดสถานภาพในการเป็นพนักงานของบริษัท ก. หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้นั้นจะถูกยกเลิก และกรรมสิทธิ์ของหุ้นเหล่านั้นจะถูกโอนให้กับบริษัทแม่อย่าง ไม่มีเงื่อนไข บริษัทแม่เป็นผู้มีสิทธิขาดในการจัดการโอนหรือขายหุ้นที่ออกนั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไป โดยพนักงานจะไม่มีสิทธิโต้แย้ง หรือได้รับเงินชดเชยจากบริษัทแม่แต่อย่างใด
          เนื่องจากการที่พนักงานได้รับหุ้นจากบริษัทแม่ตามข้อเท็จจริงเป็นผลมาจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ดังนั้น กรณีจึงถือว่าหุ้นที่ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          สำนักงานฯ ได้หารือเพิ่มเติมว่า
          1. พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อครบกำหนด 3 ปี นับจากวันที่บริษัทแม่เสนอหุ้นให้กับพนักงานหรือในปีที่พนักงานได้สิทธิในหุ้นของบริษัทแม่ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขที่พนักงานจะต้องรักษาสถานภาพการเป็นพนักงานของบริษัทลูกจนครบ 3 ปี
          2. พนักงานลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท ก. ก่อนครบ 3 ปีนับแต่ได้ใช้สิทธิตอบรับข้อเสนอของบริษัทแม่ พนักงานมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ได้ชำระแล้วได้หรือไม่
แนววินิจฉัย

:         1. เนื่องจากการที่พนักงานได้รับหุ้นจากบริษัทแม่ตามข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นผลมาจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ดังนั้น กรณีจึงถือว่าหุ้นที่ได้รับเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจึงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น ไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น เมื่อพนักงานได้รับหุ้นหรือนำใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้นมาใช้สิทธิจึงเป็นวันที่พนักงานมีเงินได้พึงประเมิน
          2. กรณีพนักงานผิดเงื่อนไขของบริษัทแม่ หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้นั้นจะถูกยกเลิกและ กรรมสิทธิ์ของหุ้นเหล่านั้นจะถูกโอนให้กับบริษัทแม่อย่างไม่มีเงื่อนไข ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพนักงานได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ไม่มีสิทธิที่จะโอนขายหุ้นที่ได้รับหากไม่ได้รับความยินยอมและอนุมัติจากบริษัทแม่ ดังนั้น การผิดเงื่อนไขของพนักงานไม่ทำให้ภาระภาษีจากการได้รับหุ้นดังกล่าวหมดไป พนักงานจึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้แล้วคืนได้

เลขตู้: 68/33514

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020