เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6555
วันที่: 5 สิงหาคม 2548
เรื่อง:  ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักรายจ่ายผลขาดทุนจากการลงทุนในสถาบันการเงินที่ล้มละลาย
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา  มาตรา 65 ตรี (12) (13)
ข้อหารือ:            สำนักงานสรรพากรภาคได้มีบันทึกหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักรายจ่ายผลขาดทุนจากการลงทุนในสถาบันการเงินที่ล้มละลาย ราย บริษัท ก. จำกัด โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
            1.  บริษัท ก. จำกัด เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการเป็น
นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ( โบรกเกอร์ ) และเมื่อปี 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มี
คำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินจำนวน 58 แห่ง ซึ่งต่อมามีสถาบันการเงินที่
ไม่ได้รับความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 56 แห่ง และสถาบันการเงินดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
            บริษัท ก. จึงขอทราบว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้สถาบัน
การเงินดังกล่าวล้มละลาย บริษัท ก. มีสิทธินำผลเสียหายเนื่องจากการลงทุนของบริษัท ก. ในสถาบันการเงินดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ และในระหว่างรอศาลล้มละลาย มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดี บริษัท ก. จะจำหน่ายเงินลงทุนในสถาบันการเงินที่ล้มละลายออกไปและรับรู้
ผลขาดทุนเป็น รายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำหน่ายได้หรือไม่ อย่างไร
          2.  สำนักงานสรรพากรภาคได้มีหนังสือ แจ้งว่า บริษัท ก. มีสิทธินำผลเสียหายจากการลงทุนในสถาบันการเงินดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดีได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัท ก.
จะนำผลขาดทุนดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำหน่ายไม่ได้ เนื่องจากในระหว่างที่สถาบันการเงินที่บริษัท ก. ได้ลงทุนด้วยถูกศาลพิพากษาให้ ล้มละลาย อำนาจการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของสถาบันการเงินดังกล่าวจะไปสู่การจัดการ ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ . ศ . 2483 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่า บริษัท ก. ได้รับความเสียหายเนื่องจากการลงทุน เมื่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการจนไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้จะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ในคดีจนศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดี ตามมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงถือเป็นการชำระบัญชีสถาบันการเงินดังกล่าว ซึ่งล้มละลายแล้ว ตามมาตรา 1247 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ผลเสียหายจากการลงทุนของบริษัท ก. ในสถาบันการเงินดังกล่าวจึงจะมีขึ้นต่อเมื่อศาลมี คำสั่งปิดคดี
          3.  ต่อมาบริษัท ก. ได้มีหนังสือ หารือสำนักงานสรรพากรภาค เพิ่มเติมว่า ในระหว่างรอศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดี หากบริษัท ก. ขายหุ้นในสถาบันการเงินที่ล้มละลายออกไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยเป็นการเด็ดขาดในราคาที่ ต่ำกว่าทุน บริษัท ก. จะรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ขายเงินลงทุน ออกไปได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:           กรณีบริษัท ก. ได้ลงทุนในสถาบันการเงิน 4 แห่ง และต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้สถาบันการเงินดังกล่าวล้มละลาย โดยในระหว่างรอศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดี บริษัท ก. จะขายหุ้นในสถาบันการเงินดังกล่าวให้แก่ บุคคลที่สามในราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมา โดยให้เหตุผลว่า หากบริษัท ก. รอให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดีจะใช้เวลานาน และจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ ปรากฏว่า สถาบันการเงินดังกล่าวมีทรัพย์สินทั้งหมดจำนวน 623,254,333.58 บาท แต่มีเจ้าหนี้ยื่นขอรับ ชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ล้มละลายจำนวน 15,689,347,626.86 บาท ซึ่งบริษัท ก. มีโอกาสได้รับคืนค่าหุ้นเป็นไปได้น้อย กรณีดังกล่าวถือว่าบริษัท ก. ขายหุ้นต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมาโดยมีเหตุอันควร ผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงเป็นผลเสียหายจากการลงทุน บริษัท ก. จึงมีสิทธินำผลขาดทุนดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ขายหุ้นได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33513

 

 

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020