เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6175
วันที่: 26 กรกฏาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการยืมเงินทดรองราชการหรือการใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา มาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:           มหาวิทยาลัยฯ ได้มีการอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ยืมเงินของทางราชการ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ทดรองจ่ายเงินส่วนตัวเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ณ สถานที่ของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง เมื่อเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการส่งใบสำคัญคู่จ่าย เพื่อทำการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณของมหาวิทยาลัยฯ มหาวิทยาลัยฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอีกหรือไม่ หากต้องจ่ายจะต้องจ่ายในยอดสุทธิ หรือไม่ และต้องออก หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (แบบ บก.28)อย่างไร โดยเฉพาะวัน เดือนปีที่จ่าย
แนววินิจฉัย

:          1. วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อหารือของมหาวิทยาลัยฯ แยกพิจารณาได้ดังนี้
                1.1 กรณีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ยืมเงินทดรองจ่ายของมหาวิทยาลัยฯ ไปดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้าง เมื่อมหาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ยืมเงินทดรอง มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะการจ่ายเงินทดรองราชการมิใช่การสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง ที่อยู่ในบังคับต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(4) หรือ มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และหากมหาวิทยาลัยฯ มิได้เป็นผู้ออกใบสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยตรง เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งยืม เงินทดรองของมหาวิทยาลัยฯ ไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี กรณี มหาวิทยาลัยฯ ได้ออกใบสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยตรง และให้เจ้าหน้าที่ยืม เงินทดรองราชการไปจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้รับจ้างตามใบสั่งซื้อหรือสั่งจ้างนั้น มหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
                 1.2 กรณีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ สำรองจ่ายเงินส่วนตัวเพื่อดำเนินการ จัดซื้อหรือจัดจ้างไปก่อนและมหาวิทยาลัยฯ มิได้เป็นผู้ออกใบสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยตรง เจ้าหน้าที่ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ส่งใบสำคัญคู่จ่ายมา เบิกจ่ายเงินจากเงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณของมหาวิทยาลัยฯ มหาวิทยาลัยฯ ไม่มี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากถือเป็นการจ่ายคืน ให้กับ เจ้าหน้าที่
          2. สำหรับการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีมหาวิทยาลัยฯ จ่ายเงิน ได้ ให้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร หรือจ่ายให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นกรณีมีการตั้งฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวล รัษฎากร ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินตรวจสอบให้แน่ชัดว่า จำนวนเงินภาษีที่ต้องหักนั้น ได้คำนวณและจดไว้ในฎีกาเบิกเงินแล้วและเป็นหน้าที่ที่จะต้องหักเงินจำนวนนั้นก่อนจ่ายและให้ใช้ แบบ บก. 28 เป็นใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยระบุวัน เดือน ปี ที่จ่ายตามความเป็นจริง
           กรณีมหาวิทยาลัยฯ มิได้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในฎีกาเบิกเงิน เมื่อจ่ายเงินได้ให้บุคคล ธรรมดา มหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวล รัษฎากร และมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ(3) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีมหาวิทยาลัยฯ จ่ายเงินได้ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มหาวิทยาลัยฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีดังกล่าวมหาวิทยาลัยฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องออกหนังสือรับรองการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่มหาวิทยาลัยฯ ต้องออก หลักฐานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อแสดงว่าการจ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ได้มีการหักภาษี ณ ที่ จ่ายแล้ว

เลขตู้: 68/33495

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020