เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6393
วันที่: 1 สิงหาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีธุรกิจ consumer finance นำค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาถือเป็นรายจ่าย
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา มาตรา 65 ตรี (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:            สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ปัจจุบันมีธุรกิจประเภท consumer finance ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 11 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทมีวิธีการบันทึกบัญชีในเรื่องการหยุดรับรู้รายได้และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แตกต่างกัน
ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถเปรียบเทียบคุณภาพของลูกหนี้แต่ละบริษัทได้ สำนักงานฯ จึงได้ร่วมกับสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธุรกิจ consumer finance สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยจึงขอให้สำนักงานฯ ประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ธุรกิจ consumer finance สามารถนำหนี้สงสัยจะสูญไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน

แนววินิจฉัย:          การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ให้นำมาถือเป็นรายจ่าย ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่าเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคาร
พาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากธุรกิจ consumer finance มิใช่เป็นการ ให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ได้กันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถนำเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33507

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020