เมนูปิด
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364)
พ.ศ. 2542
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์และ ผู้ซื้อหลักทรัพย์บางกรณี

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช กฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364) พ.ศ.2542”

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน หรือหลังวันที่ 1 มกราคม

                      มาตรา 3  ในพระราชกฤษฎีกานี้

                      “กิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน” หมายความว่า กิจการที่มีการตกลงกันระหว่างผู้ขายหลักทรัพย์และผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยผู้ขายหลักทรัพย์ตกลงที่จะขายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยมีสัญญาว่าจะมีการซื้อคืนในอนาคตในขณะเดียวกันผู้ซื้อ หลักทรัพย์ตกลงที่จะซื้อหลักทรัพย์จากผู้ขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาว่าจะขายคืนในอนาคต ตามกำหนดเวลาและในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      “หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์

                      “เงินชดเชยเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ผู้ซื้อหลักทรัพย์จะต้องจ่ายให้แก่ ผู้ขายหลักทรัพย์ เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลของหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อจากผู้ขายหลักทรัพย์ และได้ถือครองไว้ก่อนที่จะขายคืนให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์

                      “เงินชดเชยดอกเบี้ย” หมายความว่า เงินที่ผู้ซื้อหลักทรัพย์จะต้องจ่ายให้แก่ ผู้ขายหลักทรัพย์ เนื่องจากมีการจ่ายดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อจากผู้ขายหลักทรัพย์ และได้ถือครองไว้ก่อนที่จะขายคืนให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 105))

                      มาตรา 4  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ที่กระทำกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญา ขายหรือซื้อคืน สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      ในกรณีที่ผู้ขายหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หากได้รับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยเนื่องจากการขายหลักทรัพย์ในการกระทำกิจการดังกล่าว ต้องยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับจึงจะได้รับยกเว้นภาษี ตามความในวรรคหนึ่ง
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 105))

                      มาตรา 5  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือเงินส่วน แบ่งกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่

                      (1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้ขายหลักทรัพย์ในกิจการซื้อหรือขาย หลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนและได้ซื้อคืนหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกัน หรือ โครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่น และชนิดเดียวกัน ในจำนวนที่เทียบเท่า กับหลักทรัพย์ที่ได้ขายไป เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ

                      (2) บริษัทตาม (1) ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัท ผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดย บริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เป็นจำนวน เท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ

                      ทั้งนี้ บริษัทตาม (1) และ (2) ต้องเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 และได้ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรไว้ไม่น้อยกว่า สามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และยังคงถือหุ้น หรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลา ระหว่างที่ได้มีการขายหุ้นหรือหน่วยลงทุนไปจนถึงวันที่ซื้อคืนหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นรวมด้วย

                      มาตรา 6  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ที่กระทำกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขาย หรือซื้อคืนสำหรับเงินได้และการโอนทรัพย์สิน ดังนี้

                      (1) เงินจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ผู้ขายหลักทรัพย์ได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์เพื่อใช้ สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์นั้นโดยผ่านผู้ซื้อหลักทรัพย์

                      (2) การโอนหุ้นเพิ่มทุนคืนให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ อันเนื่องมาจากผู้ขายหลักทรัพย์ ได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์โดยผ่านผู้ซื้อหลักทรัพย์ตาม (1)

                      มาตรา 7  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การประกอบกิจการ ซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนเป็นธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้กู้ยืมเงิน แต่มีรูปแบบเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้เกิด ความไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมซึ่งเป็นการกู้ยืมเงิน สมควรยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาระภาษีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรม อันจะเป็นการส่งเสริมตลาดเงินและตลาดทุนให้มีการขยายตัวในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะ ทำให้มีการหมุนเวียนหลักทรัพย์ระหว่างผู้ที่ทำธุรกรรมดังกล่าว และทำให้เกิดสภาพคล่องใน ตลาดเงินและตลาดทุนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 138 ก วันที่ 31 ธันวาคม 2542)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022