เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 362)
พ.ศ. 2542
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์บางกรณี

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542”

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ในพระราชกฤษฎีกานี้

                      “บริษัทบริหารสินทรัพย์” หมายความว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

(ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 381) พ.ศ.2544)

                      “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                      “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” หมายความว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                      มาตรา 4  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินที่ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เท่ากับจำนวนที่บริษัทบริหารสินทรัพย์จ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่สถาบันการเงิน โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินผู้ถือหุ้นต้องยินยอมหักรายจ่ายอื่นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      มาตรา 5  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อ หรือรับโอนจากสถาบันการเงิน โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นจะต้องมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นให้มีผลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 765) พ.ศ. 2566 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 เป็นต้นไป)

                      การถือหุ้นโดยอ้อมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      มาตรา 6  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงิน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือกระทรวงการคลังถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่บริษัทบริหารสินทรัพย์กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัย จะสูญตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรอง ประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นให้มีผลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 765) พ.ศ. 2566 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 เป็นต้นไป)

                      เงินสำรองส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงเงินสำรองที่ตั้งในรอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วย

                      ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดบริษัทบริหารสินทรัพย์ตั้งเงินสำรองประเภทดังกล่าวลดลง บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง จะต้องหักรายจ่ายอื่นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ตั้งลดลงในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

                      การถือหุ้นโดยอ้อมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      มาตรา 7  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อดำเนินการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้นเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปได้ แต่เนื่องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ยังคงมีภาระที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการบริหารสินทรัพย์ จึงทำให้การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงิน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 132 ก วันที่ 21 ธันวาคม 2542)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-06-2023