เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน (ฉบับที่ 359)
พ.ศ. 2542
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินบางประเภท

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 4 แห่งพระราช กฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของ ทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

                      “การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างอื่นตามความใน วรรคหนึ่ง (5) ซึ่งมิใช่รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาในปีแรกเป็นสองเท่าของอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และสำหรับ ปีถัดไปให้หักตามอัตราสองเท่าดังกล่าวโดยคำนวณจากมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือในแต่ละ รอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายของอายุการใช้ของทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยรวมจำนวนมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมด ด้วยก็ได้”

                      มาตรา 4  พระราชกฤษฎีกานี้มิให้ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ

                      มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราช กฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันประเทศไทย ประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ อันส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงมี นโยบายที่จะส่งเสริมและจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งลงทุนด้วยการซื้อทรัพย์สินมาใช้ในการประกอบกิจการ ได้รับสิทธิประโยชน์ ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าวได้ในอัตราเร่งเป็นสองเท่าของอัตรา เดิมตลอดอายุการใช้งาน อันจะมีส่วนช่วยลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 103 ก วันที่ 22 ตุลาคม 2542)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022