พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 -------------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2543 เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน | |||
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช กฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษี ธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอน อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครง สร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุง โครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะ ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ อยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกัน หนี้กับ สถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด การโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสารตามวรรคหนึ่งต้องเป็นการ กระทำในระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และ ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนอง เป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทย ประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันส่งผล กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระ หนี้ของลูกหนี้ ซึ่งได้มีการตราพระราช กฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร เพื่อกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้และเจ้า หนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้อื่น เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มิได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ของ สถาบันการเงินที่โอนอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนอง เป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินได้ที่ได้รับจากการ โอนอสังหาริมทรัพย์มาชำระหนี้สถาบันการเงิน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลบรรลุผล สมควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ |
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 97 ก วันที่ 31 ตุลาคม 2543)