เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 438)

พ.ศ. 2548

   ----------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548

เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                     โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

 

                     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35  และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรง

พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

                    มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่  438) พ.ศ. 2548”

 

                    มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

               มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษ ดังนี้

                               (1) จำนวนไม่เกินเดือนละหนึ่งพันบาท ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับเงินเดือนเจ็ดพันบาทขึ้นไปแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่เมื่อรวมเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษแล้วต้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท

                               (2) ตามจำนวนเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งได้รับเงินเดือนไม่เกินเจ็ดพันบาท แต่เมื่อรวมเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษแล้วต้องไม่เกินเดือนละเจ็ดพันบาท เงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายให้แก่ลูกจ้างของตนติดต่อกันทุกเดือนนอกเหนือจากเงินเดือนและเงินได้อื่น อันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานที่ลูกจ้างได้รับเป็นประจำทุกเดือนก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ในเดือนที่มีการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้าง เงินเดือนของลูกจ้างต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ในกรณีที่ลูกจ้างนั้นเข้าทำงานก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 หรือไม่ต่ำกว่าเงินเดือนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 หรือเงินเดือนเดือนแรกที่เข้าทำงาน ในกรณีที่ลูกจ้างนั้นเข้าทำงานในหรือภายหลังเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 แล้วแต่กรณี

                              ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 ในมาตรานี้ “เงินเดือน” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานที่ทำเป็นหนังสือ ซึ่งคำนวณเป็นจำนวนเงินต่อเดือนไม่ว่าจะมีระยะเวลาการจ่ายเงินในแต่ละเดือนเป็นประการใดก็ตาม

 

               มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับกับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายให้แก่ลูกจ้างของตนระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเริ่มต้นจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2548

 

                   มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลช่วยเหลือเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้น้อย ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล สมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 122 ตอนที่ 97 ก  วันที่ 18 ตุลาคม 2548)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022