พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2544 -------------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน | |||
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ บางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2544 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้ นิติบุคคลเฉพาะกิจ หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลง สินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่นิติบุคคลเฉพาะกิจกันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน เงินสำรองส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงเงินสำรองที่กันไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีแรกของนิติบุคคลเฉพาะกิจด้วย ในกรณีที่เงินสำรองที่ตั้งไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญลดลงในรอบระยะเวลาบัญชีใด และเงินสำรองที่ลดลงนั้นเคยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งมาแล้ว นิติบุคคลเฉพาะกิจผู้มีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง จะต้องหักรายจ่ายอื่นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ลดลงในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการรับโอนสินทรัพย์แล้วแปลงเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ยังคงมีภาระที่จะต้องกันเงินสำรองไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินทรัพย์ที่รับโอนมาเพื่อแปลงเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งเงินสำรองดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิติบุคคลเฉพาะกิจในการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เพื่อออกจำหน่ายแก่ผู้ลงทุน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของนิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ |
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 118 ตอนที่ 75 ก วันที่ 5 กันยายน 2544)