เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10422
วันที่: 14 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทควบเข้ากัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50(1) มาตรา 50 ทวิ มาตรา 58 มาตรา 60 มาตรา 65 วรรคสอง มาตรา 73 มาตรา 82/3 มาตรา 82/9 มาตรา 82/10 มาตรา 85/14 มาตรา 85/15 และ มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ท. แจ้งว่า บริษัทฯ และบริษัท ป. โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ต่างได้มีมติอนุมัติการควบบริษัท ซึ่งเป็นการควบ
บริษัทภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (พรบ.
บริษัทมหาชน) ทั้งนี้ บริษัททั้งสองคาดว่า คณะกรรมการของบริษัทใหม่จะ
ดำเนินการขอจดทะเบียนควบบริษัทกับนายทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 7
ธันวาคม 2548 โดยบริษัททั้งสองจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และเกิดบริษัท
ใหม่ขึ้นในทันทีที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว (บริษัทใหม่) บริษัทฯ
จึงขอทราบข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาระภาษีของทั้งสองบริษัท
(บริษัทเก่า) และบริษัทใหม่ ดังต่อไปนี้
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 152 และมาตรา 153 แห่ง พรบ.บริษัทมหาชน กำหนดว่า เมื่อ
นายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมที่ได้ควบเข้ากันหมด
สภาพจากการเป็นนิติบุคคล โดยบริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้ง
ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมด ดังนั้น
บุคคลใดเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของบริษัทเดิมที่มาควบเข้ากัน บุคคลนั้นจะเป็น
เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของบริษัทใหม่ต่อไป หรือบริษัทเดิมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย
อย่างใด บริษัทใหม่ก็จะเป็นผู้ได้รับสิทธินั้นต่อไป เว้นแต่กรณีที่กฎหมายซึ่งกำหนด
ให้สิทธิหน้าที่นั้นจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะ
2. ตามมาตรา 85/14 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทใหม่ซึ่งเป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเลิกประกอบกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิก
ประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร และให้บริษัทใหม่ซึ่งได้
ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้จด
ทะเบียนบริษัทใหม่ ทั้งนี้ ไม่ต้องปฏิบัติตามแนวทางคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
66/2539ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539 กรณีการแจ้งเลิกประกอบกิจการสำหรับ
การควบบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.66/2539ฯ ลงวันที่ 29
ธันวาคมพ.ศ. 2539เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบ
กิจการตามจริง โดยสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะหมดไปในวันที่อธิบดี
กรมสรรพากรสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งแตกต่างจากกรณีการควบบริษัทที่กฎหมายกำหนดให้บริษัท
ใหม่ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทเก่าทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามมาตรา 153 แห่ง พรบ.บริษัทมหาชน และเนื่องจากการควบบริษัททำให้
บริษัทเก่าหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 152 แห่ง พรบ.บริษัท
มหาชน บริษัทเก่าจึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30)
ต่อไป นับแต่วันถัดจากวันที่จดทะเบียนควบบริษัท
3. กรณีบริษัทเก่าได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียน
ควบบริษัท แต่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและในการออกใบกำกับภาษียัง
ไม่เกิดขึ้น หากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการ
ให้บริการดังกล่าวได้เกิดขึ้นนับแต่วันถัดจากวันที่จดทะเบียนควบบริษัท ให้บริษัท
ใหม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นตามมาตรา 86
แห่งประมวลรัษฎากร และให้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทใหม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นตาม
มาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีบริษัทเก่าได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียนควบ
บริษัท แต่ได้รับใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวนับแต่วัน
ถัดจากวันที่จดทะเบียนควบบริษัท ให้บริษัทใหม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี
นั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยบริษัท
ใหม่จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิก
ใบกำกับภาษีฉบับเดิม และจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องโดยระบุชื่อบริษัท
ใหม่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
5. กรณีบริษัทเก่าได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียน
ควบบริษัท และได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต่อมาถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา
82/9 และมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่
คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือ
บางส่วน ให้บริษัทใหม่มีหน้าที่ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตาม
มาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ สำหรับใบเพิ่ม
หนี้หรือใบลดหนี้ที่บริษัทใหม่ได้รับจะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุชื่อบริษัท
ใหม่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
6. การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ในการคำนวณรายได้และรายจ่าย
ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การคำนวณ
รายได้และรายจ่ายสำหรับบริษัทเก่าก่อนวันที่จดทะเบียนควบบริษัท และบริษัทใหม่
นับแต่วันถัดจากวันที่ควบบริษัท ให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดย
6.1 การรับรู้รายได้สำหรับเงินชดเชยภาษีอากรในรูปบัตรภาษีจากกรมศุลกากร
ให้คำนวณเป็นรายได้เมื่อได้รับหนังสือแจ้งอนุมัติให้ได้รับบัตรภาษีจากกรมศุลกากร
ตามเกณฑ์สิทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งการคืนเงิน
อากรให้รับทราบนับแต่วันถัดจากวันที่จดทะเบียนควบบริษัท บริษัทใหม่จะต้องรับรู้
เงินชดเชยภาษีอากรเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติ
บุคคล
6.2 กรณีบริษัทเก่ามีผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตราแบบลอยตัว
ของปี 2540 รอตัดบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2548 – 31 ธันวาคม
2548 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ให้บริษัทเก่านำผลขาดทุนดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลา
บัญชี 1 มกราคม 2548 – 6 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายของ
บริษัทเก่าได้
7. กรณีบริษัทเก่าได้มีการรับบริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียนควบบริษัท
หากบริษัทใหม่เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินสำหรับการรับบริการดังกล่าว นับแต่วัน
ถัดจากวันที่จดทะเบียนควบบริษัท ให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตาม
มาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
8. กรณีบริษัทเก่าได้มีการให้บริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียนควบบริษัท
แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินสำหรับการให้บริการดังกล่าวและได้รับหนังสือรับรองการ
หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยระบุชื่อบริษัทเก่าเป็นผู้ถูกหักภาษีนับแต่วันถัดจากวันที่จด
ทะเบียนควบบริษัท เนื่องจากบริษัทเก่ามีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา
73 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งตามหนังสือรับรอง
การหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว ให้ถือเป็นเครดิตภาษีของบริษัทเก่าในการคำนวณ
ภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
9. การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินเดือนพนักงานตามมาตรา 50(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้บริษัทเก่าคำนวณหักภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายเงินเดือน
พนักงานจนถึงวันก่อนวันจดทะเบียนควบบริษัท และให้บริษัทใหม่คำนวณหักภาษี
เงินได้สำหรับเงินเดือนพนักงานที่จ่ายตั้งแต่วันจดทะเบียนควบบริษัทเป็นต้นไป
โดยให้บริษัทใหม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1ก. และ ภ.ง.ด.2ก. ของ
บริษัทเก่าด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 58 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33735

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020