เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1202
วันที่: ลว. 14 กุมภาพันธ์ 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการเลิกจ้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 42(ก) และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: ลูกจ้างของบริษัทฯ ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ สายประจำสำนักงาน บริษัทฯ ได้เข้าสู่
แผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2546 บริษัทฯ ได้บอกกล่าว
เลิกจ้าง โดยไม่จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นๆ ล ูกจ้างได้ฟ้องบริษัทฯ เป็นคดีแรงงาน
ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20
กันยายน 2547 สรุปความได้ว่า การเลิกจ้างที่บริษัทฯ กระทำเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร
และไม่เป็นธรรมให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นเงินพร้อมดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
1. ค่าชดเชย 1,521,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
2. ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 363,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
3. ค่าจ้างค้างจ่าย 1,030,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
4. ค่ารถประจำตำแหน่งและค่าน้ำมัน 124,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
5. ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 38,025 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และ
6. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,774,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ดังนี้ เงินได้ต่างๆ รวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีเงินชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับตามคำพิพากษา เนื่องจากเหตุเลิกจ้างโดยไม่เป็น
ธรรมตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินได้ที่ได้รับตามคำพิพากษาจึงเป็นเงินได้พึงประเมินอยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานสัญญาจ้าง
เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท
เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17)
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความ
ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนั้น เงินค่าชดเชยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับต้องหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินชดเชยส่วนที่เกินจำนวนดังกล่าวหรือที่ได้รับจากการเลิกจ้าง เพราะเหตุ
เกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ แต่ถือเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้
ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ดังกล่าว
และลูกจ้างมีสิทธิที่จะเลือกไม่ต้องนำเงินได้จำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีก
ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมิน ตาม
มาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
เลขตู้: 69/33880

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020