เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10946
วันที่: 30 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีค่าธรรมเนียมการยืมจากการทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 50(2) มาตรา 70 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ข้อ 4(1)(ก)
ข้อหารือ: บริษัทหลักทรัพย์ พ. ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทฯ จะดำเนินการประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด บริษัทฯ ได้ทำสัญญายืมหลักทรัพย์หุ้นสามัญที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลธรรมดา
(2) บริษัทประกันวินาศภัย
(3) กองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(4) บริษัทหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรอังกฤษ
(5) และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการยืม โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวคำนวณจากอัตราร้อยละของมูลค่าหลักทรัพย์และตามระยะเวลาที่ยืม นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาให้ยืมหลักทรัพย์แก่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง โดยค่าธรรมเนียมการให้ยืมดังกล่าวคำนวณจากต้นทุนค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์นั้น บวกด้วยกำไรส่วนเพิ่ม และจะเรียกเก็บเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการให้ยืมหลักทรัพย์
บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. ค่าธรรมเนียมการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์เป็นเงินได้ประเภทใด
2. บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ ในอัตราใด สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ให้แก่คู่สัญญาตาม (1)-(4) ดังกล่าว
3. บริษัทฯ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ ในอัตราใด สำหรับค่าธรรมเนียมจากการให้ยืมหลักทรัพย์ที่บริษัทฯ เรียกเก็บ
4. บริษัทฯ มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายได้ค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์อย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: 1. ค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) จากการทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL) มีวิธีคำนวณจากอัตราร้อยละของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ยืมและตามระยะเวลาที่ยืม หรือวิธีคำนวณจากต้นทุนค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์บวกด้วยกำไรส่วนเพิ่มและเรียกเก็บเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการให้ยืมหลักทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่จ่ายให้แก่ผู้รับดังต่อไปนี้
2.1 กรณีจ่ายเงินได้ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีจ่ายเงินได้ให้บริษัทประกันวินาศภัย ให้คำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1 ทั้งนี้ ตามข้อ 4(1)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 106/2545ฯ ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545
2.3 กรณีจ่ายเงินได้ให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากกองทุนรวมดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 124 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
2.4 กรณีจ่ายเงินได้ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรอังกฤษ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว มีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรอังกฤษ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับตามข้อ 12(ก) ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
3. กรณีบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 4(1)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.106/2545ฯ ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2545
4. การทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์จากผู้ยืม บริษัทฯ ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33791

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020