เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./10548
วันที่: 19 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผลิตและจำหน่าย BENZALKONIUM CHLORIDE
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(จ) และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายเคมีภัณฑ์ สีย้อม สีผง ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระดาษ เครื่องหนัง และอุตสาหกรรมผลิตสี ฯลฯ บริษัทฯ มีโครงการที่จะผลิตเคมีภัณฑ์มีชื่อทางเคมีว่า BENZALKONIUM CHLORIDE และชื่อทางการค้าว่า DODIGEN 226 และ DODIGEN 800 ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 กับกรมประมง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้ทางการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีคุณสมบัติในการควบคุม ป้องกัน กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืชหรือสัตว์อื่นในน้ำ บริษัทฯ ขอทราบว่า
(1) การผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายยา หรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกันทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
(2) ในการผลิต DODIGEN 226 และ DODIGEN 800 บริษัทฯ ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศและวัตถุดิบที่ซื้อในประเทศ วัตถุดิบบางชนิดสามารถนำไปผลิตเคมีภัณฑ์อื่น ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บางชนิดอาจเป็นสินค้าซึ่งบริษัทฯ ขายให้แก่ผู้ซื้อซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป เมื่อบริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มไปถือเป็นภาษีซื้อทั้งจำนวนได้หรือไม่ เนื่องจากในขณะที่ซื้อหรือนำเข้าบริษัทฯ ไม่สามารถระบุได้ว่า วัตถุดิบนั้นจะนำไปใช้ในการผลิตสินค้าใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายสินค้า DODIGEN 226 และ DODIGEN 800 ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าลักษณะเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรู หรือโรคของพืชและสัตว์ บริษัทฯ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและซื้อวัตถุดิบในประเทศเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากนำเข้าวัตถุดิบหรือซื้อวัตถุดิบในประเทศดังกล่าว เป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535
เลขตู้: 68/33751

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020