เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ.10071
วันที่: 1 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท จ. ประกอบกิจการเกษตรอุตสาหกรรม ประเภทการผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อาคาร A ซึ่งเช่าจากบริษัท B บริษัทฯ ใช้เป็นที่ทำการของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชีส่วนกลาง และฝ่ายบัญชีของกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการแบ่งการใช้พื้นที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน มีการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของแต่ละฝ่ายแยกจากกัน และในการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ค่าบริการอาคารของผู้ให้เช่าก็แยกเก็บเป็นของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจนเช่นกัน ต่อมาบริษัทฯ จะมีการประกอบกิจการในส่วนของการผลิตอาหารแปรรูป จดทะเบียนเพิ่มสาขาในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ จะเริ่มประกอบกิจการภายในปี 2547 สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นที่ทำการของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชีส่วนกลาง จึงกำกับดูแลกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และฝ่ายบัญชีของกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งดูแลกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่จึงต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ หารือว่า
1. การที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ได้มีการใช้พื้นที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน มีการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของแต่ละฝ่ายแยกจากกัน ดังนั้น ในการเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ ณ สถานประกอบการสำนักงานใหญ่ บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร
2. ในกรณีที่ปีถัดจากปีที่เริ่มมีรายได้ของบริษัทฯ ปรากฏว่า รายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ เลือกที่จะนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปคำนวณเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายของกิจการ ตามข้อ 3 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงไม่มีการขอคืนภาษีซื้อแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่ได้ขอคืนภาษีซื้อจึงทำให้ไม่มีรายการที่จะลงในรายงานภาษีซื้อ บริษัทฯ จึงไม่ต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ในการเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติ ดังนี้
1.1 ภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ที่เกิดขึ้นในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายบัญชีส่วนกลางซึ่งดูแลทั้งกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นภาษีซื้อที่ไม่สามารถแยกได้ชัดแจ้งว่า เป็นของกิจการใด บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออันเกิดจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่นำมาใช้ในกิจการทั้งสองประเภทตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 และนำภาษีซื้อในส่วนที่เฉลี่ยได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้
1.2 ภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ที่เกิดขึ้นในส่วนของฝ่ายบัญชีของกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากสามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นภาษีซื้อของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายได้ แต่มีสิทธินำมาลงเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายได้ทั้งจำนวนไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ เลือกที่จะนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปคำนวณเป็นต้นทุนหรือเป็นรายจ่ายของกิจการตามข้อ 3(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ทำให้ภาษีซื้อในส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำภาษีซื้อดังกล่าวมาลงในรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
เลขตู้: 68/33709

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020